9/18/10

จิตขณะแรกในชีวิต

  เนื่องด้วยพักนี้จะสนใจในเรื่องการปฏิสนธิจิตมาก ๆ
แล้วก็เรื่องกฏแห่งกรรม ทำกรรมใดจะไปเกิดในภพภูมิใด
ขณะสุดท้ายของชีวิตคิดดีจะไปเกิดในภพภูมิดี ก็พอดีไปเจอ
บทความจิตขณะแรกในชีวิตเลยคัดลอกมาให้ได้อ่านกันค่ะ
ที่มาบทความ :  http://buddhiststudy.tripod.com/ch10.htm
รั้งแล้วครั้งเล่าที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง 6 เป็นจิตเห็นบ้าง   จิตได้ยินบ้าง   จิตที่พอใจในสิ่งที่เห็นหรือได้ยินบ้าง   จิตเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ   เราอาจสงสัยว่าจิตเหล่านี้มีหน้าที่ต่างกันหรือไม่   จิตเห็นและจิตที่พอใจในรูปารมณ์นั้นเกิดไม่พร้อมกัน   จิตสองดวงนี้ต่างกันและทำกิจต่างกัน   เราจะเข้าใจจิตดีถ้าเรารู้ลำดับการเกิดของจิตและรู้กิจของจิต    จิตเกิดขึ้นโดยไม่ทำกิจไม่ได้ จิตแต่ละดวงต่างทำ กิจ ของตน   กิจของจิตทั้งหมดมี 14 กิจ
จิตที่เกิดขณะแรกในชีวิตก็ต้องทำกิจด้วย    การเกิดคืออะไร  และ อะไร   ล่ะเกิด    เราพูดเรื่องเด็กเกิด แต่ความจริงแล้วมีแต่ นามธรรมและรูปธรรม เท่านั้นเกิด  คำว่า "เกิด" เป็นบัญญัติ   เราควรพิจารณาว่าการเกิดจริงๆนั้นเป็นอย่างไร   นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับทุกขณะ   ฉะนั้น   การเกิดและการตายของนามรูปก็มีทุกขณะ    เพื่อจะได้เข้าใจว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิด   เราควรรู้ปัจจัยที่ทำให้นามรูปเกิดขึ้นในขณะแรกของชาติหนึ่งๆ
ในชีวิตของเราอะไรเกิดก่อน   นามหรือรูป?   ทุกๆขณะในชีวิตของเราต้องมีทั้งนามและรูป   ในภูมิที่มีขันธ์ 5 (นามขันธ์ 4 และรูปขันธ์ 1)    นามธรรมเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีรูป   จิตเกิดไม่ได้ถ้าไม่อาศัยรูป    ขณะหนึ่งๆในชีวิตเป็นจริงอย่างไร   ขณะแรกของชีวิตก็ต้องเป็นจริงอย่างนั้นด้วย   ในขณะแรกของชีวิตนั้น   นามและรูปต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน   จิตที่เกิดขณะแรกนั้นเรียกว่า ปฏิสนธิจิต    เมื่อไม่มีจิตดวงใดเกิดได้โดยไม่อาศัยปัจจัย   ปฏิสนธิจิตก็ต้องเกิดเพราะปัจจัยด้วย   ปฏิสนธิจิตเป็นจิตขณะแรกในชาติหนึ่งๆ   เพราะฉะนั้นจึงต้องมีเหตุในอดีตเป็นปัจจัยด้วย    บางคนอาจสงสัยเรื่องชาติก่อนๆ   แต่คนเราจะต่างกันอย่างไรได้ถ้าไม่มีชาติก่อนๆ   เราเห็นได้ว่าคนเราเกิดมาต่างกันตามการสะสม
เราจะบอกอุปนิสัยของเด็กโดยดูจากพ่อแม่ได้ไหม   ที่เราใช้คำว่า "อุปนิสัย" นั้น  ความจริงก็คือ  นามธรรม    พ่อแม่จะส่งนามธรรมซึ่งเกิดแล้วดับไปทันทีนั้นให้กับอีกคนหนึ่งได้หรือ?   จะต้องมีเหตุปัจจัยอื่นๆที่ทำให้เด็กมีอุปนิสัยอย่างนั้น   จิตเกิดดับสืบต่อกัน   ฉะนั้นจิตทุกดวงจึงเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น    จิตขณะแรกของชาตินี้เกิดต่อจากจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน (จุติจิต)   ด้วยเหตุนี้เอง   อุปนิสัยในอดีตจึงสืบต่อมาโดยสะสมในจิตดวงหนึ่งสู่จิตดวงต่อไปและจากชาติก่อนสู่ชาตินี้
เพราะเหตุที่ว่าเราทุกคนสะสมอุปนิสัยต่างๆกันในชาติก่อนๆ   ทุกคนจึงเกิดมามีจริตอัธยาศัยต่างๆกัน
คนเรามิได้เกิดมามีอุปนิสัยต่างกันเท่านั้น   แต่ยังเกิดในสิ่งแวดล้อมต่างกันอีกด้วย   บางคนเกิดในสิ่งแวดล้อมที่สุขสบาย   บางคนเกิดในสิ่งแวดล้อมที่ทุกข์ยาก    การที่จะเข้าใจเรื่องนี้ได้นั้น   เราต้องไม่ติดคำสมมุติบัญญัติว่า   "บุคคล"  หรือ  "สิ่งแวดล้อม"    ถ้าเราพิจารณาโดยปรมัตถธรรมก็จะเห็นว่า การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สุขสบายหรือทุกข์ยากนั้นก็ไม่ใช่อะไรอื่นเลยนอกจากการรู้อารมณ์ที่ดีบ้าง   ไม่ดีบ้าง  ทางตา  หู  จมูก   ลิ้น  กาย  เป็น กุศลวิบาก   หรือ อกุศลวิบาก   นั่นเอง    วิบากจะเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุปัจจัยไม่ได้   วิบากเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม   ทุกคนทำกรรมต่างกันจึงได้รับผลต่างกัน   การที่คนเราเกิดในสิ่งแวดล้อมต่างกันนั้นต้องมีเหตุคือ   กรรมในชาติก่อนเป็นปัจจัย   กรรมทำให้เกิด ปฏิสนธิจิต เป็น วิบาก คือ  เป็น ผลของกรรม
ในโลกนี้เราเห็นมนุษย์และสัตว์เกิดมาต่างๆกัน   เมื่อเปรียบเทียบชีวิตของสัตว์และชีวิตของมนุษย์   จะเห็นว่าการเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นเป็นทุกข์   เป็นอกุศลวิบาก    การเกิดเป็นมนุษย์เป็นกุศลวิบาก   แม้ว่าจะเกิดเป็นคนยากจนหรือต้องประสบความทุกข์ยากต่างๆนานาตลอดชีวิต   ปฏิสนธิจิตของแต่ละคนเป็นกุศลวิบากต่างระดับ   เพราะกุศลกรรมซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากนั้นมีหลายระดับ
ในขณะแรกของชีวิต   กรรมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตและรูปเกิดขึ้นพร้อมกัน   บางคนอาจสงสัยว่าอะไรทำให้รูปเกิดในขณะแรกของชีวิต    เราเห็นแต่ละคนมีรูปร่างหน้าตาต่างกัน   บางคนแข็งแรง  บางคนอ่อนแอ   บางคนก็พิการแต่กำเนิด    ต้องมีเหตุที่ทำให้เป็นอย่างนั้น   กรรมนั่นเองที่เป็นปัจจัยให้นามและรูปเกิดขึ้น
กรรมทำให้รูปที่ไม่ใช่ร่างกาย   และรูปที่เป็น  "พืชพันธุ์ไม้ต่างๆ" เกิดได้ไหม?   พืชไม่ได้ "เกิด" เพราะพืชทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมไม่ได้   พืชไม่มีกรรมเป็นปัจจัยให้เกิด   อุตุ (อุณหภูมิ) เป็นปัจจัยให้เกิดพืช    สำหรับมนุษย์นั้น  กรรมเป็นปัจจัยให้รูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต   ถ้ากรรมไม่ทำให้นามและรูปเกิดตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ   ก็ไม่มีชีวิต  อุตุ ก็เป็นปัจจัยให้รูปเกิด   ถ้าอุณหภูมิไม่เหมาะสม   ชีวิตที่เกิดมานั้นก็เจริญเติบโตไม่ได้   ทันทีที่ปฏิสนธิจิตดับไป จิต ดวงต่อไปก็เกิดขึ้น   และเริ่มเป็นปัจจัยให้เกิดรูป    นอกจากนั้น อาหาร ก็ทำให้รูปเกิดด้วย ร่างกายจึงเจริญเติบโตได้    ดังนั้นจะเห็นว่า   นอกจากกรรมแล้วก็มีปัจจัยอื่นๆอีกที่ทำให้รูปเกิด   คือ  จิต  อุตุ  และ อาหาร
กรรมเป็นปัจจัยให้รูปเกิดไม่เฉพาะในขณะปฏิสนธิเท่านั้นแต่ตลอดชีวิตทีเดียว   กรรมไม่แต่จะเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ดีบ้าง   ไม่ดีบ้างทางทวารต่างๆเท่านั้น   แต่ยังเป็นปัจจัยให้เกิดรูปซึ่งทำกิจเป็นทวารรับอารมณ์ต่างๆตลอดชีวิต   มีใครสร้างจักขุปสาทของตนเองได้บ้างไหม?    อุตุก็ทำให้จักขุปสาทเกิดไม่ได้   กรรมเท่านั้นที่ทำได้   การเปลี่ยนดวงตาใหม่จะไม่เป็นผลเลยถ้ากรรมไม่ทำให้จักขุปสาทของผู้รับดวงตาเกิดขึ้น
ครรภ์มารดาก็มิใช่เป็นที่เกิดที่เดียวเท่านั้น   จากคำสอนของพระผู้มีพระภาค   เรารู้ว่าการเกิดมี 4 อย่าง คือ   เกิดในครรภ์ 1   เกิดในไข่ 1    เกิดในที่ชื้น 1 และเกิดเป็นโอปปาติกะ 1
บางคนอยากรู้ว่าชีวิตในครรภ์มารดานั้นเริ่มต้น เมื่อใด    ชีวิตเริ่มต้นขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับ
กัมมชรูป   ชีวิตสิ้นสุดลงเมื่อจิตดวงสุดท้าย (จุติจิต) ดับ    ตราบใดที่จุติจิตยังไม่ดับ   ชีวิตก็ยังดำรงอยู่   ไม่มีใครรู้ขณะที่จุติจิตของผู้อื่นเกิดขึ้นและดับไป   นอกจากผู้ที่ได้เจโตปริยญาณ    พระผู้มีพระภาคและผู้ที่ได้เจโตปริยญาณสามารถรู้ขณะจุติของผู้อื่นได้
เราอาจสงสัยว่ากรรมใดในชีวิตของเราจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดชาติหน้า    บางคนเชื่อว่าชาตินี้ทำกุศลมากๆชาติหน้าก็ต้องเกิดดีแน่   แต่กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมในชาตินี้    ในอดีตชาติ   เราก็ได้ทำอกุศลกรรมและกุศลกรรมมาแล้วเช่นเดียวกับในชาตินี้ซึ่งเป็นกรรมหนักเบาต่างๆ    กรรมบางอย่างก็ให้ผลในชาติที่ทำกรรมนั้น กรรมบางอย่างก็ให้ผลโดยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดในชาติหน้าหรือในชาติต่อๆไป   เราได้ทำกรรมต่างๆในอดีตชาติซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิดอีก   แต่กรรมเหล่านั้นยังไม่สุกงอมที่จะให้ผล   เราไม่รู้ว่ากรรมใดจะเป็นปัจจัยให้เกิดชาติหน้า
ถ้าอกุศลกรรมเป็นปัจจัยให้ (ปฏิสนธิ) เกิด  ชาติหน้าก็เป็นทุคติ   ซึ่งจิตที่จะเกิดก่อนจุติจิตเป็นอกุศลจิตที่มีอนิฏฐารมณ์โดยกรรมเป็นปัจจัย    ปฏิสนธิจิตของชาติหน้าซึ่งเกิดต่อจากจุติจิตนั้นมีอนิฏฐารมณ์เดียวกับอกุศลจิตก่อนจุติจิต   ถ้ากุศลกรรมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิเกิด   ชาติหน้าเป็นสุคติ   ซึ่งกุศลจิตจะเกิดก่อนจุติจิตและมีอิฏฐารมณ์โดยกรรมเป็นปัจจัย    ปฏิสนธิจิตของชาติหน้ามีอิฏฐารมณ์เดียวกับกุศลจิตก่อนจุติ
บางคนอยากรู้ว่า   เขาจะทำให้ชาติหน้าเป็นสุคติโดยบังคับจิตที่เกิดก่อนจุติจิตให้เป็นกุศลได้ไหม   บางคนก็นิมนต์พระมาสวดเพื่อให้ผู้ที่กำลังจะตายเกิดกุศลจิต    อย่างไรก็ตาม   ไม่มีใครรู้แน่ว่าผู้นั้นจะเกิดในสุคติ   นอกเสียจากว่าผู้นั้นเป็นพระอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งแล้ว    ไม่มีใครบังคับจิตได้ เราบังคับความคิดของเราขณะนี้ได้ไหม   เมื่อบังคับไม่ได้   เราจะบังคับความคิดก่อนตายได้อย่างไร   ไม่มีตัวตนที่ตัดสินให้ชาติหน้าเกิดที่ไหนได้   แม้ว่าจะได้ทำกรรมดีมามาก   ก็อาจมีอกุศลกรรมในชาติก่อนๆเป็นปัจจัยให้เกิดในทุคติภูมิในชาติต่อไปได้   เมื่ออกุศลจิตหรือกุศลจิตขณะสุดท้ายดับไปแล้ว   จุติจิตก็เกิดแล้วดับไป    แล้วปฏิสนธิจิตของชาติต่อไปก็เกิดสืบต่อเริ่มเป็นชาติใหม่ทันที   ตราบใดที่ยังมีกรรม   ตราบนั้นก็ยังมีชาติต่อๆไปอีก
เพราะเหตุที่ปฏิสนธิจิตทำกิจเกิดขึ้นเป็นขณะแรกในภพใหม่   ชาติหนึ่งๆจึงมีปฏิสนธิจิตเพียงดวงเดียวเท่านั้น   ไม่มีตัวตนที่ย้ายจากชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง   มีแต่นามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป   ชาตินี้ต่างจากชาติก่อน   แต่สืบเนื่องกันโดยชาติก่อนเป็นปัจจัยให้ชาตินี้เกิดขึ้น    เพราะเหตุที่ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน อุปนิสัยที่สะสมมาในชาติก่อนๆจึงสืบต่อในปฏิสนธิจิต   ฉะนั้น   อุปนิสัยความโน้มเอียงต่างๆในชาตินี้จึงมีชาติก่อนๆเป็นปัจจัย
เราอาจจะดีใจที่ได้เกิดมาถ้าไม่รู้ว่าการเกิดเป็นผลของกรรม   ทั้งยังจะต้องเกิดต้องตายอีกตราบเท่าที่ยังมีกรรม   การไม่เห็นภัยของการเกิดนั้นเป็นอวิชชา ขณะนี้เราอยู่ในโลกมนุษย์   แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่ง   ก็ไม่แน่ว่าเราจะไม่เกิดในทุคติภูมิในชาติต่อๆไป   เราได้ทำทั้งอกุศลกรรมและกุศลกรรมในอดีตอนันตชาติ    ใครจะรู้ได้ว่ากรรมใดจะทำให้เกิดปฏิสนธิจิตในชาติต่อไปแม้ว่าเราจะทำกุศลอยู่เนืองๆ    บางคนคิดว่าการเกิดในสวรรค์นั้นเป็นที่น่าปราถนา   แต่เขาหารู้ไม่ว่าชีวิตในสวรรค์นั้นไม่ยั่งยืน   เมื่อชีวิตในสวรรค์สิ้นสุดลง   อกุศลกรรมที่ได้ทำมาแล้วนั้นอาจเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดในทุคติภูมิได้
ในมัชฌิมนิกาย  อุปริปัณณาสก์   สุญญตวรรค
พาลบัณฑิตสูตร   ข้อความมีว่า   สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับ   ณ  พระวิหารเชตวัน   อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี    พระองค์ตรัสกะพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายถึงความทุกข์ทรมานในนรก   ความทุกข์ในเดรัจฉานภูมิว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เรากล่าวเรื่องกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน   แม้โดยเอนกปริยายแล   เพียงเท่านี้   จะกล่าวให้ถึงกระทั่งกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานเป็นทุกข์   ไม่ใช่ทำได้โดยง่ายๆ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เปรียบเหมือนบุรุษโยนทุ่นมีบ่วงตาเดียวไปในมหาสมุทร   ทุ่นนั้นถูกลมตะวันออกพัดไปทางทิศตะวันตก     ถูกลมตะวันตกพัดไปทางทิศตะวันออก   ถูกลมเหนือพัดไปทางทิศใต้   ถูกลมใต้พัดไปทางทิศเหนือ    มีเต่าตาบอดอยู่ในมหาสมุทรนั้น   ล่วงไปร้อยปีจึงจะผุดขึ้นครั้งหนึ่ง    ดูกรภิกษุทั้งหลาย   พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน    เต่าตาบอดตัวนั้นจะพึงเอาคอสวมเข้าที่ทุ่นมีบ่วงตาเดียวโน้นได้บ้างไหมหนอ"
"ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลย   พระพุทธเจ้าข้า   ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   ถ้าจะเป็นไปได้บ้างในบางครั้งบางคราว   ก็โดยล่วงระยะกาลนานแน่นอนฯ"
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เต่าตาบอดตัวนั้นจะพึงเอาคอสวมเข้าที่ทุ่นมีบ่วงตาเดียวโน้นได้ยังจะเร็วกว่า   เรากล่าวความเป็นมนุษย์ที่คนพาลผู้ไปสู่วินิบาตคราวหนึ่งแล้วจะพึงได้   ยังยากกว่านี้   นั่นเพราะเหตุไร   ดูกรภิกษุทั้งหลาย   เพราะในตัวคนพาลนี้ไม่มีความประพฤติธรรม   ความประพฤติสงบ  การทำกุศล   การทำบุญ  มีแต่การกินกันเอง   การเบียดเบียนคนอ่อนแอฯ    ดูกรภิกษุทั้งหลาย   คนพาลนั้นนั่นแล   ถ้าจะมาสู่ความเป็นมนุษย์ในบางครั้งบางคราวไม่ว่ากาลไหนๆ   โดยล่วงระยะกาลนาน   ก็ย่อมเกิดในสกุลตํ่า  คือ   สกุลคนจัณฑาล หรือสกุลพรานล่าเนื้อ   หรือสกุลคนจักสาน   หรือสกุลช่างรถ   หรือสกุลคนเทขยะ   เห็นปานนั้นในบั้นปลาย   อันเป็นสกุลคนจน   มีข้าวนํ้าและโภชนาหารน้อย   มีชีวิตเป็นไปลำบาก   ซึ่งเป็นสกุลที่จะได้ของกินและเครื่องนุ่งห่มโดยฝืดเคือง   และเขาจะมีผิวพรรณทราม   น่าเกลียดชัง  ร่างม่อต้อ มีโรคมาก  เป็นคนตาบอดบ้าง   เป็นคนง่อยบ้าง   เป็นคนกระจอกบ้าง   เป็นคนเปลี้ยบ้าง   ไม่ได้ข้าว  นํ้า  ผ้า  ยาน   ดอกไม้  ของหอม   เครื่องลูบไล้  ที่นอน
ที่อยู่อาศัย   และเครื่องตามประทีป   เขาจะประพฤติกายทุจริต   วจีทุจริต  มโนทุจริต   ครั้นแล้วเมื่อตายไป   จะเข้าถึงอบาย  ทุคติ   วินิบาต  นรกฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย   นี้ภูมิของคนพาลครบถ้วนบริบูรณ์"
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของการเกิดโดยนานาประการ    พระองค์ตรัสว่า   การเกิดเป็นทุกข์ซึ่งติดตามด้วย   ชรา  พยาธิ  และมรณะ    พระองค์ทรงแสดงความปฏิกูลของร่างกาย   และทรงเตือนว่า   ขณะนี้เองร่างกายก็เป็นทุกข์   ไม่เที่ยง  และไม่ใช่ตัวตน   ถ้าเรายังคงยึดถือจิตและร่างกายว่า   เป็นตัวตน    สังสารวัฏฏ์ของการเกิดการตายก็ไม่มีวันสิ้นสุด
ในสังยุตตนิกาย  นิทานวรรค   อนมตัคคสังยุตต์  ปฐมวรรคที่ 1  ปุคคลสูตร   มีข้อความว่า   สมัยหนึ่ง   พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ   เขตพระนครราชคฤห์   พระองค์ตรัสกะพระภิกษุทั้งหลายว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ
เมื่อบุคคลหนึ่งท่องเที่ยวไปมาอยู่ตลอดกัปป์หนึ่ง   พึงมีโครงกระดูก  ร่างกระดูก กองกระดูก   ใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละนี้    ถ้ากองกระดูกนั้นพึงเป็นของที่จะขนมารวมกันได้   และกระดูกที่ได้สั่งสมไว้แล้วก็ไม่พึงหมดไป
ข้อนั้นเพราะเหตุไร   เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้   ฯลฯ   พอเพื่อจะหลุดพ้น   ดังนี้ฯ"
พระผู้มีพระภาค  ผู้สุคตศาสดา   ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว   จึงตรัสพระคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
"เราผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่   ได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า
กระดูกของบุคคลหนึ่งที่สะสมไว้กัปป์หนึ่ง
พึงเป็นกองเท่าภูเขา   ก็ภูเขาที่เรากล่าวนั้น
คือภูเขาใหญ่ชื่อเวปุลละ   อยู่ทิศเหนือของภูเขาคิชฌกูฏ
ใกล้เมืองราชคฤห์   อันมีภูเขาล้อมรอบ
เมื่อใดบุคคลเห็นอริยสัจจ์   คือทุกข์
เหตุเกิดแห่งทุกข์   ความล่วงพ้นทุกข์
และอริยมรรคมีองค์ 8   อันยังสัตว์
ให้ถึงความสงบทุกข์ด้วยปัญญาอันชอบ
เมื่อนั้นเขาท่องเที่ยว 7 ครั้งเป็นอย่างมาก
ก็เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้
เพราะสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง   ดังนี้แลฯ"
เป็นบุญแล้วที่เกิดเป็นมนุษย์   เพราะเราจะเจริญอบรมปัญญาได้   เมื่อบรรลุอริยสัจจธรรมขั้นแรก (ขั้นโสดาบัน)   ประจักษ์แจ้งอริยสัจจ์ 4 แล้ว   จะเกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติ   และจะรู้แน่ว่าในที่สุดก็จะพ้นจากการเกิด

9/17/10

นิพพานนอกวัด(ตอน2)

ที่มาหนังสือ: นิพพานนอกวัด/ผู้แต่ง:พระอาจารย์วิเชียร วชิรปัญโญ
Tyrol,_Austria_-_Misty_Mountain_Village ต่อจากตอนที่แล้วค่ะ
              หากเรามีสติกำหนดรู้ทุกขณะแห่งความคิดหรือจิตเรา และมี
สติสัมปชัญญะรู้ตัวเองตื่นตัวเองอยู่เสมอ เรานั้นย่อมรู้เท่าทันอย่างไม่
ต้องอาศัย ปัจจัยมาจากภายนอกเพียงเราตื่นตัวรู้เองอยู่ตลอด นั้นแหละ
คือการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง เพียงแต่ว่าเมื่อเรารู้แล้วว่าเราเกิดอารมณื
ทั้งดีและไม่ดีขึ้นมา เรากล้าที่จะปล่อยวางกับอารมณ์เหล่านั้นขนาดไหน
เพราะบางคนก็รู้ทั้งรู้ว่าอารมณ์ไม่ดี อารมณ์กำลังขุ่นมัว ก็อดไม่ได้ทนไม่ไหว
ก็เกิดการทะเลาะโต้เถียงกันไป
     เมื่อเรารู้แล้วว่า อารมณ์นั้นไม่ดีทั้ง 2ฝ่าย เราก็ควรเพียงรู้และเห็นโทษ
ของอารมณ์ทั้งคู่ ว่าเป็นอย่างไรเมื่อเราไหลไปตามอารมณ์นั้น สุดท้าย
เราเองก็ต้องทุกข์เมื่อเรารู้แล้วว่า หากเราปล่อยจิตให้ตามอารมณ์นั้นไป
ผลสุดท้ายที่เราจะได้รับก็คือความทุกข์ อารมณ์ดีเกิดขึ้น ก็อยากให้อารมณ์
นั้นอยู่กับเรานาน ๆ พยายามรักษาอารมณ์แห่งความสุขและพอใจนั้นให้อยู่
กับตนเองให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ แต่สุดท้ายก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป
จากอารมณ์ดี เปลี่ยนมาเป็นอารมณ์ไม่ดี เพราะต้องหลุดจากจิตที่มีอารมณ์ดี
ครอบงำ มาเป็นจิตที่อารมณ์ไม่ดีมาครอบงำไว้แทน
     การนั่งสมาธิก็เป็นเพียงการฝึกให้เรามีสติเท่านั้น แต่ไม่สามารถที่จะฝึกให้เรา
เราเจริญด้วยปัญญาได้ อย่างที่กล่าวไว้ว่า ก็รู้ทั้งรู้ว่าไม่ดี รู้ตื่นตัวอยู่เสมอว่า
สิ่งนั้นมันไม่ดี แต่ก็อยากจะทำในสิ่งนั้น ก็เลยกระทำสิ่งนั้นลงไป เพราะขาดปัญญา
มาคอยยับยั้งหาเหตุและผล ให้เราละและวางอารมณ์นั้นให้ได้ ดังนั้นคราวใดที่ใจ
เราถูกกระทบจากสภาพอารมณ์ภายนอก หน้าที่ของเราก็คือตามดูตามรู้ กำหนด
รู้ให้เห็นว่าอารมณ์เราเป็นเช่นไร เมื่อเรารู้ว่าเป็นเช่นไรแล้วเราก็วางสิ่งนั้นเสีย
เราก็หลุดพ้นไปได้โดยอัตโนมัติ
     จึงได้เห็นว่า ถึงแม้เราจะไม่มีเวลามานั่งสมาธิเดินจงกรม หรือเข้าวัดฟังเทศน์ก็
ตาม แต่เราก็สามารถที่จะสร้างพระนิพพานให้เกิดกับตัวเราได้ โดยที่ไม่ต้องมีรูป
แบบที่ลำบากอย่างนั้น ขอเพียงให้เรามีจิตที่รู้ว่าในขณะที่กายเราถูกกระทบ
แล้วจิตรู้สึกเช่นไร แล้วก็นำปัญญามาแก้ไขและวางอารมณ์นั้นให้ได้เร็วที่สุด
ไม่ว่าอารมณ์ดีหรือไม่ก็ตาม เมื่อเรารู้แล้วต้องวางอารมณ์ให้เขาอยู่ในส่วนของเขาไป
ไม่ต้องนำอารมณ์นั้นมาเข้าฝังในจิตของเรา ปล่อยจิตของเราให้อยู่อย่างเอกเทศ
โดยมีความนิ่งและว่างอย่างเดียว อารมณ์ความสุขเกิดขึ้นรู้อยู่แต่ไม่ไปตาม
อารมณ์ทุกข์เกิดขึ้นรู้อยู่แล้วก็หาวิธีแก้ไขคลายความทุกนั้นให้ได้ไป แล้วก็วาง
ให้เขาอยู่อย่างอิสระ
     การกระทำเช่นนี้ กล่าวแล้วรู้สึกว่าง่าย แต่เวลาลงมือทำรู้สึกว่ายากการที่จะปล่อย
และละอารมณ์ในแต่ละอย่างไม่ใช่ของง่าย อารมณ์แห่งความทุกข์ก็พอหาทางออก
ให้ได้ แต่อารมณ์แห่งความสุข ที่ไม่ต้องให้เก็บไว้นี้น่าจะวางยากอยู่ไม่น้อย แต่ให้
เราทั้งหลายพึงรู้ได้เลยว่า ตราบใดที่จิตของเรายังมีความรู้สึกว่ามีความสุขในอารมณ์
อยู่ แล้วต้อไปเราก็ต้องมีทุกข์ในอารมณ์เช่นเดียวกัน เรียกว่า สุขอยู่ที่ไหน ทุกข์ก็
อยู่ที่นั้นตามกันมาเหมือนกับเงาตามตัว เหมือนกับหน้ามือและหลังมือ ก็มาจากมือ
ข้างเดียวนี้เอง หากเราคว่ำมือหลังมือก็เกิดขึ้น แต่ถ้าเราหงายมือขึ้น ฝ่ามือก็ปรากฏ
อยู่อย่างนั้น ทำให้เราเห็นว่าเราควรที่จะวางใจของเราให้พ้นไปเสียจากสิ่งทั้งสองนี้
1192388720 จบแล้วค่ะ จริง ๆแล้วหนังสือเล่มนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าอ่านนะคะ
ถ้ามีโอกาสลองไปหาอ่านกันดูค่ะ
ช่วงนี้อาจจะอัพบล็อคช้าไปนิดเนื่องจากอิทธิฤทธิ์เจ้าตัวน้อยในท้อง
ทำให้ไม่ค่อยมีแรงเลย แต่สัญญาจะมาเขียนสม่ำเสมอแน่นอนค่ะ

9/16/10

WAIT FORคนที่ฉันเฝ้ารอด้วยใจจดจ่อ…แล้วเค้าก็มา


ฉันเฝ้ารอคอยเค้ามานานหนึ่งปีเต็ม ถึงวันนี้หัวใจมันท้อจนคิดว่าคงไม่มีวันนั้น
ฉันทำเป็นลืม ๆ ไปบ้าง ไม่อยากจะนึกถึงอีกแล้ว
แต่จู่ ๆ วันที่รอคอยก็มาถึง ไม่ได้นึกฝัน
หลังจากออกจากห้องน้ำเช้าวันนั้น ผลการตรวจจากตัวtestที่ซื้อมาจากร้านขายยา
หน้าหมู่บ้านผลมันเป็น บวก หรือแปลว่า ฉันตั้งครรถ์แล้ว
ยังงัวเงียอยู่ ตาฝาดหรือเปล่านี่ ก็รอตั้งนานจนไม่คิดว่าจะได้เค้ามา
แต่จู่ ๆเค้าก็มาอยู่ในท้องเรา ต่อไปนี้เราจะมีชีวิตน้อย ๆอยู่เป็นเพื่อนกันตลอดเวลา
อย่างน้อย ๆ 9 เดือน เราจะอยู่ด้วยกันตลอด24ชม กินด้วยกัน นอนด้วยกัน
อ่านหนังสือด้วยกัน แล้วก็ดูทีวีด้วยกันและตอนกลางวันพ่อไปทำงานแม่ก็จะได้
คุยกับหนู บ้านของเราจะไม่เหงาอีกต่อไป
พ่อกับแม่จะรอคอยวันที่จะได้เห็นหน้าหนูนะจ้ะ
uy179
หลังจากที่รอคอยมานานวันนี้แคทก็มีน้องอยู่ในท้องจริง ๆ แล้ว
ดีใจก็เลยอยากบอกใครสักคน