11/25/10

โรคเสียดายหนังสือกำเริบ

DSCF8499
เพื่อน ๆเคยบ้างไหมคะหนังสือที่เราไม่ได้หยิบมาอ่านเราก็ไม่เคยจะคิดถึงมันแต่พอนึกขึ้นมาได้ว่ามันหายไปก็แทบจะพลิกบ้านหาเลย มีใครเป็นเหมือนกันบ้างเอ่ย
วันนี้ขายหนังสือได้ 2 เล่ม แต่ก็เป็นอาการเดิมคือ กลัวคิดถึงมันทั้ง ๆที่เวลามันวางอยู่ที่บ้านก็ไม่เคยจะนึกถึงว่าวางอยู่ตรงไหน แต่พอมันจะไปอยู่กับคนอื่นก็กลับเสียดาย แต่เราก็รู้สึกดีตรงที่มันจะได้ไปอยู่กับเจ้าของคนใหม่ที่ต้องการมันอย่างแท้จริง เห็นคุณค่าของมันเหมือนเมื่อครั้งหนึ่งที่เราอยากจะได้มันมามากมาย แล้วสุดท้ายก็นอนแอ้งแม้งให้ฝุ่นเกาะอยู่มุมหนึ่งของบ้าน
งั้นวันนี้จะเล่าบางส่วนของหนังสือที่กำลังจะขายให้ฟังแล้วกัน เอาที่ดูน่าสนใจดีกว่า
อ้อ ลืมไปหนังสือชื่อ คู่มือโน้มน้าวใจคน
เรื่อง กฏแห่งความมีศักยภาพและความเป็นเลิศ (Law of Power)
       คนเรานั้นอาจมีศักยภาพหรือมีความสามารถพิเศษที่มากกว่าคนอื่นจนถึงระดับที่พวกเขาถูกมองว่ามีความน่าเชื่อถือ มีความแข็งแกร่ง หรือมีความเชี่ยวชาญที่เหนือกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ
           คนที่มีศักยภาพในตัวเองสูงนั้นมาพร้อมด้วยความน่าเชื่อถือและมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถดึงดูดใจผู้อื่นได้ ความมีศักยภาพคือความสามารถในการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งยังเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและเป็นไปตามการรับรู้ ลูกค้าจะรับรู้ว่าคุณมีศักยภาพในตัวเองมากขึ้น ถ้าคุณแสดงพฤติกรรมด้วยความเชื่อมั่นแต่ไม่ใช่ความหยิ่งทะนง การมีท่าทีสบาย ๆ แต่ไม่ใช่การไม่เอาใจใส่ การมีความมั่นใจในตัวเอง แต่ไม่ใช่การแสดงตัวว่ารู้ไปเสียทุกอย่างความมีศักยภาพเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวคุณ และคุณจะต้องปลดปล่อยมันออกมา เมื่อใดก็ตามที่คนรับรู้ว่าคุณเป็นคนเก่ง มีความสามารถ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความรอบรู้ และมีความมั่นใจในตัวเอง แน่นอนว่าระดับความเชื่อมั่นของเขาที่มีต่อตัวคุณก็จะสูงขึ้น
       ถ้าคุณพยายามใช้ศักยภาพ หรือความสามาถพิเศษที่คุณมีเหนือคนอื่น แทนที่จะใช้มันเพื่อพวกเขา คุณก็จะสูญเสียกายขาย รวมทั้งเพื่อนของคุณด้วย ศักยภาพหรือความสามารถพิเศษในตัวคุณนั้นจะถูกรับรู้โดยคนส่วนใหญ่ว่าเป็นพลังบางอย่างที่มีอยู่ในตัว และมักจะเรียกกันว่า ผู้ที่มีความเป็นเลิศ หรือมีพรสวรรค์ ซึ่งก็คือ คนที่มีความสามารถและมีคุณลักษณะหรือมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถดึงดูดใจและทำให้ผู้อื่นเลื่อมใส ศรัทธา และยอมรับได้ ศักยภาพ หรือพรสวรรค์ที่คุณมีนั้นโดยปกติมักจะไม่ได้รับการยอมรับและคนมักไม่ค่อยจะยอมปฏิบัติตาม ถ้าพวกเขาคิดว่าคุณกำลังพยายามที่จะข่มพวกเขาอยู่
        ในงานวิจัยงานหนึ่งเมื่อเร็ว ๆนี้ ที่พูดถึงเรื่องความมีศักยภาพและความน่าเชื่อถือนั้น ได้เปิดเผยว่า 95% ของพยาบาลทั้งหมดเต็มใจที่จะจ่ายยาให้กับคนไข้หลังจากที่ได้รับการสั่งจากหมอ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า ยานั้นอาจจะทำให้คนไข้ตาย นั่นแหละคือ การมีศักยภาพ และความน่าเชื่อถือ
         เมื่อคุณขายสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง คนจะทึกทักว่าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ ถ้าคุณรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับสินค้าของคุณ คุณก็จะเป็นคนที่ใคร ๆก็จะมาหา ขอใหทำให้ลูกค้าของคุณรู้โดยนัยว่า คุณเป็นสุดยอด หรือเป็นหนึ่งในสุดยอดบริษัทชั้นนำ คนโดยทั่วไปชอบที่จะติดต่อกับบริษัทชั้นนำเสมอ
         ช่างซ่อมรถยนต์อาจจะดูเหมือนคนที่ไม่มีศักยภาพ และมีความน่าเชื่อถือมากสักเท่าไหร่นัก แต่เวลาที่รถคุณเสีย พวกเขาก็จะกลายเป็นคนที่มีศักยภาพและมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในโลก พวกเขามีทางแก้ปัญหาให้คุณ ถ้าพวกเขาทำให้การแก้ปัญหาดูเป็นเรื่องง่าย พวกเขาก็จะดูไม่มีศักยภาพและความน่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงง่าย ๆ ที่ว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงไม่ค่อยได้ใส่ใจกับวิธีการใช้ศักยภาพและความเป็นเลิศ หรือใช้พรสวรรค์ที่ตนเองมี นั่นก็คือ เหตุผลเดียวกับที่ทำให้พวกเขาหลายคนถูกมองว่าเป้นพวกทีชอบสร้างปัญหานั่นเอง
                             จบแล้วจ้า
จริง ๆ อยากจะเขียนเรื่องอื่นต่อนะแต่กลัวหนังสือยับน่ะ เพราะเดี๋ยวต้องส่งให้เขาแล้ว
คราวหน้าจะเอารูปกองหนังสือที่บ้านมาให้เพื่อนดูกันนะคะ ว่ามันแยะจนอ่านไม่ไหวเลยจริง ๆ

11/22/10

กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน

     คือ การรู้สภาพของกายในขณะนั้นว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ว่ากายจะยืน กายจะเดิน กายจะนั่ง กายจะนอน จะพักผ่อนอันใดมีสติควบคุม จิตต้องกำหนด กำหนดกายยืน กำหนดกายนั่ง กำหนดกายนอน กำหนดกายที่จะเอนลงไปต้องกำหนดทุกอิริยาบถ จะก้าวเยื้องซ้ายและขวาไปที่ไหนกำหนดตั้งสติไว้ให้เป็นปัจจุบัน

     กำหนด  แปลว่า ความรู้ของชีวิตอันมีสติควบคุมเช่น ก่อนจะเดินให้สำรวมจิตอยู่ที่เท้าขวา ตั้งสติปักลงไป แล้วกำหนดในใจคำว่าขวา ให้ยกส้นเท้าขวาขึ้น ตั้งสติระลึกรู้พร้อมกับส้นเท้าขวาที่ยกขึ้นก้าวท้าวขวาไปข้างหน้า สติระลึกรู้พร้อมกับส้นเท้าขวาที่เคลื่อนไปข้างหน้า หนอวางเท้าลงถึงพื้น ปลายเท้าและส้นเท้าลงพร้อมกัน สติระลึกรู้พร้อมกับเท้าที่ลงสัมผัสพื้น หรือจะหยิบสิ่งของอะไร ก็ให้สำรวมจิตอยู่ที่มือข้างที่จะหยิบ ตั้งสติปักลงไปที่มือข้างที่จะหยิบสิ่งของอะไร ก็ให้สำรวมจิตอยู่ที่มือข้างที่จะหยิบ ตั้งสติปักลงไปที่มือข้างที่จะหยิบนั้นแล้วกำหนดในใจว่า หยิบหนอ หยิบหนอ สติระลึกพร้อมกับมือข้างที่กำลังหยิบของสิ่งนั้น เป็นต้น
จากหนังสือ: หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมโม

สติปัฎฐานสี่

คือ ความระลึกอยู่เสมอว่าขณะนี้เราทำอะไร มีสติตั้งมั่นอยู่กับการพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม จะยืน เดิน นั่ง นอน กำหนดสติพิจารณาทุกอิริยาบถ
              วิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเบื้องต้น
การยืน
               ให้ยกมือไขว้หลัง มือขวาจับข้อมือซ้าย วางไว้ตรงกระเบนเหน็บ ยืนตรง หน้าตรง หลับตา ให้สติอยู่ที่กลางกระหม่อม สำรวมจิต เอาสติตาม วาดมโนภาพร่างกาย คำว่า ยืน จากศีรษะลงมาหยุดที่สะดือ คำว่าหนอ จากสะดือลงไปปลายเท้านับเ้ป็น 1 ครั้ง ครั้งที่สอง กำหนดขึ้นคำว่า ยืน จากปลายเท้ามาหยุดที่สะดือ คำว่าหนอ จากสะดือไปกลางกระหม่อม กำหนดกลับไปกลับมา จนครบ 5 ครั้ง ขณะนั้นสำรวมจิตอยู่ที่ร่างกาย อย่าให้ออกนอกกาย แล้วลืมตา ค่อย ๆ ก้มหน้ามองดูปลายเท้า ให้สติจับอยู่ที่เท้าเพื่อเตรียมเดินจงกรมต่อไป

การเดิน
              กำหนดว่า ขวาย่างหนอ ในใจคำว่า ขวา ยกส้นเท้าขวาขึ้นประมาณ 2นิ้ว เท้ากับใจนึกต้องพร้อมกัน ย่าง ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าอย่างช้า ๆ เท้ายังไม่เหยียบ  คำว่า หนอ เท้าลงถึงพื้นพร้อมกัน จากนั้น สำรวมจิตไว้ที่เท้าซ้ายตั้งสติปักลงไป กำหนดว่า ซ้ายย่างหนอสลับกันเช่นนี้เรื่อย ๆ ไป ระยะก้าวในการเดินห่างกันประมาณ 1 คืบ เพื่อการทรงตัวขณะก้าวได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่แล้ว ให้นำเท้ามาเคียงกัน หน้าตรง หลับตา กำหนดยืนหนอช้าๆ อีก 5 ครั้ง จากนั้นลืมตา ก้มหน้า มองดูปลายเท้า

การกลับ
             กำหนดว่า กลับ...หนอ 4 ครั้ง คำว่า กลับหนอครั้งที่หนึ่งยกปลายเท้าขวา ใช้ส้นเท้าขวาหมุนตัวไปทางขวา 90 องศา ครั้งที่สอง เคลื่อนเท้าซ้ายมาชิดกับเท้าขวา ครั้งที่สามทำเหมือนครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สี่ทำเหมือนครั้งที่ 2 เมื่อครบสี่ครั้งแล้วจะอยู่ในท่ากลับหลัง ต่อไปกำหนด ยืนหนอช้า ๆ อีก 5 ครั้ง ลืมตาก้มหน้า แล้วกำหนดเดินต่อไปจนหมดเวลาที่ต้องการ

การนั่ง
            ให้ทำต่อจากการเดินจงกรม อย่าให้ขาดตอนเมื่อเดินจงกรมถึงที่จะนั่ง ให้กำหนดยืนหนออีก 5 ครั้ง แล้วกำหนดปล่อยมือลงข้างตัวว่า ปล่อยมือหนอ ๆๆ ช้า ๆ จนกว่าจะลงสุด เวลานั่งค่อย ๆ ย่อลงตัวลง พร้อมกำหนดตามอารมณ์ที่ทำไป จริง ๆ เช่น ย่อตัวหนอ ๆๆ เท้าพื้นหนอๆๆ คุกเข่าหนอ ๆๆ นั่งหนอๆๆ เป็นต้น

วิธีนั่ง
           ให้นั่งขัดสมาธิ คือขาขวาทับขาซ้าย นั่งตัวตรงหลับตาเอาสติจับอยู่ที่ท้องพอง ยุบ เวลา หายใจเข้าท้องพอง กำหนดว่า พองหนอ หายใจออกท้องยุบ กำหนดว่า ยุบหรอ ใจนึกกับท้อง ที่พอง ยุบต้องให้ทันกัน ให้สติจับอยู่ที่การพองยุบของท้องเท่านั้น อย่าดูลมที่จมูกอย่าตะเบ็งท้อง ให้รู้สึกตามความเป็นจริงว่า ท้องพองไปข้างหน้าท้องยุบมาข้างหลัง กำหนดเช่นนี้ไปจนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด

การนอน
           เวลานอนค่อย ๆ เอนตัวนอน พร้อมกับกำหนดตามไปว่านอนหนอ ๆๆ จนกว่าจะนอนเรียบร้อย ขณะนั้นให้เอาสติจับอยู่กับอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อนอนเรียบร้อยแล้ว ให้ตั้งสติจับอยู่ที่ท้องหายใจเข้าออกยาว ๆ สบาย ๆ ภาวนาพองหนอ ยุบหนอ ได้ยินอะไรก็กำหนดไปเรื่อย ๆ อย่าไปเพ่งที่ท้องมาก ไม่หลับ ให้ตั้งสติไว้ หายใจเรื่อยไปว่า พองหนอ ยุบหรอ จนกว่าจะหลับ เมื่อตื่นก่อนลืมตาให้กำหนดว่า ตื่นหนอ กำหนดที่ท้องว่าพอหนอ ยุบหนอ จนกว่าจะหลับ เมื่อตื่นก่อนลืมตาให้กำหนดว่า ตื่นหนอ กำหนดที่ท้องว่าพองหนอ ยุบหนอ ครู่หนึ่ง แล้วกำหนดลืมตา และการลุกขึ้นนั่งต่อไป  

จากหนังสือ:หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมโม