4/19/11

การทนต่อความลำบาก


การทนต่อความลำบาก
                
      โดย....สุชีพ   ปุญญานุภาพ
                                
   “บางคนเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาสอนให้อ่อนแอเกียจคร้าน
    แต่เรื่องนี้กลับแสดงให้เห็นว่า  พระพุทธศาสนาสอนให้
    เข้มแข็งอดทนไม่เป็นคนอ่อนแอ
            ถ้าปฏิบัติตามได้จะเกิด
            ประโยชน์อย่างไร?
            มีพระพุทธภาษิตบทหนึ่งแปลเป็นไทยว่า  “ผู้ใดในยามลำบาก  อดทนต่อความลำบากได้ ไม่หลีกเลี่ยงความลำบาก  ผู้นั้นเป็นคนมีปัญญา ย่อมได้รับความสุขอันเกิดแต่การประกอบ  ซึ่งเป็นที่สุดแห่งความลำบาก”  ดังนี้

            ใจความในพระพุทธภาษิตนี้  แบ่งออกเป็น ส่วนเหตุ กับ  ส่วนผล   ข้อที่สอนให้รู้จักอดทนต่อความลำบาก และรู้จักแก้ไขฝ่าฟันความลำบากนั้น  ๆ  ไม่หลีกเลี่ยง  จัดเป็นส่วนเหตุ  ข้อที่แสดงว่าเมื่อทำได้เช่นนั้นแล้ว  ย่อมได้รับความสุขอันเป็นที่สุดแห่งความลำบาก  จัดเป็นส่วนผล
      
            มีคนเป็นอันมาก  อยากประสบผลโดยไม่ใส่ใจประกอบเหตุ  เช่นอยากพ้นความลำบากด้วยการบ่น  หรือนั่งนอนคอยให้ความลำบากนั้น  ๆ  หมดไปเองไม่คิดแก้ไขบ้าง หรือบางคนคิดแก้ไข  แต่พอใจจะแก้ด้วยวิธีที่ง่าย  และสะดวกสบายเช่น บนบานอ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยปัดเป่าให้พ้นความลำบากนั้นเป็นต้นบ้างการไม่คิดแก้ไขเฝ้าแต่บ่นจะให้ความลำบากสิ้นไปเอง หรือการคิดแก้ไข  แต่แก้ไม่ถูกแก่เหตุดังกล่าวมานี้  หาได้สำเร็จประโยชน์ไม่  พระพุทธศาสนาถือเหตุผลเป็นสำคัญเมื่อวางหลักธรรมสำหรับประชุมชนจะฟังทำความเข้าใจ  และปฏิบัติ  จึงสั่งสอนไปในเหตุผลให้บุคคลละทิ้งนิสัยมักง่าย และงมงาย
            ความต้องการให้ความลำบาก หรือสิ่งที่ไม่ประสงค์นั้น ๆ สิ้นไปโดยอยู่เฉย ๆ ไม่แกไข หรือแก้ไขด้วยการอ้อนวอนบ่นว่าเป็นต้น  จัดเข้าในลักษณะงมงายเห็นแก่ง่ายเป็นประมาณ
            ความลำบากนั้น  บางทีถ้ารู้จักแก้ไขก็แก้ได้โดยง่าย  ข้อสำคัญอยู่ที่แก้ให้ถูกเหตุ  คนบางคนไม่เพ่งเล็งเหตุผล  เกรงแต่จะเสียในทางมักง่าย ถ้าต้องการพ้นจากความลำบาก  หรือ ทำความลำบากให้สิ้นไป  ก็ลงมือแก้ไขในทางที่ยากเข้าไว้  เช่นทรมานตน  มีอดอาหาร ย่างตัวเองที่หลุมถ่านเพลิงเป็นต้น ด้วยคิดว่า  เพราะการทำตนให้ลำบากนี้  เทวดาจะประทานพรให้พ้นความลำบากบ้าง  เดชแห่งตบะจะช่วยได้บ้าง  ความสนใจแต่จะแก้ไขในทางที่ยากเข้าไว้โดยไม่พิจารณาแก้ให้ถูกเหตุเช่นนี้ จัดเข้าในลักษณะงมงาย

            ความมักง่าย และงมงายดังกล่าวมานี้  ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้ดำเนินชีวิตในโลก  ทั้งไม่ใช่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา  จึงควรพิจารณาในลำดับต่อไปว่า  หลักธรรมทางพระพุทธศาสนานั้น วางแนวคิดและแนวปฏิบัติไว้อย่างไร

            พระอัสสชิเถระเจ้าเมื่อแสดงธรรมแก่พระสารีบุตร  ได้ประมวลหัวใจของพุทธศาสนามาแสดงโดยย่อว่า  “ธรรมใดเกิดแต่เหตุ  พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมนั้นกับทั้งความดับแห่งธรรมนั้น”   ซึ่งถอดใจความได้ว่า   พระศาสดาตรัสสอนให้รู้จักเหตุและผล  เมื่อเห็นผลแล้วให้รู้จักค้นหาต้นเหตุ  และถ้าจะแก้ไขมิให้เกิดผลหรือให้ผลทวีขึ้น  จะต้องประกอบเหตุให้ถูกทาง  เหมือนแก้เชือกก็ต้องแก้ให้ถูกปม  ถ้าไปหลงแก้ที่อื่น หรือขมวดให้เกิดปมยิ่งขึ้น  ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ฉะนั้น
            ตามหัวข้อที่ยกขึ้นกล่าวในเบื้องต้นนี้  ท่านแสดงเหตุคือความรู้จักอดทนต่อความลำบาก  และรู้จักแก้ไข  ไม่หลีกเลี่ยงความลำบากนั้นว่า  ทำให้ได้รับผลคือความสุขเกิดแต่การประกอบ  อันเป็นที่สุดแห่งความลำบาก

            เฉพาะคำว่า สุข  อันเป็นผลที่พึงได้จากเหตุข้างต้น  ท่านจำกัดความว่าหมายถึงสุขเกิดแต่การประกอบ  ที่เรียกว่า   โยคสุข  ดังนี้  จึงเป็นอันแน่ใจได้อย่างหนึ่งว่า  ความนั้นบุคคลอาจประกอบกระทำให้เกิดมีขึ้นได้ตามต้องการ  ข้อสำคัญ  อยู่ที่การประกอบเหตุสุขให้ถูกเท่นั้น  เมื่อเทียบดูถึงความสุขที่จะเกิดขึ้นนี้แล้ว  ก็จะเห็นว่าต่างกันมาก  ข้อนี้มีทางเทียบให้เห็นโดยอเนกประการ  เช่น  ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักสร้างบ้านเรือน  เครื่องนุ่งห่มขึ้นเลย   คอยแต่จะอาศัยสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมนุษย์ก็ต้องอยู่ตามถ้ำ ตามโคนไม้  และมีใบไม้เป็นเครื่องนุ่งห่ม  ซึ่งในที่สุดถ้ำหรือโคนต้นไม้ก็จะไม่พอให้อาศัย และถึงจะเป็นที่อาศัยได้บ้างก็ไม่สะดวก  หรือผาสุก  เหมือนบ้านเรือนที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ตามความต้องการนั้น  ข้าว  และพืชผลทุกชนิดที่ใช้เป็นเครื่องบริโภค  ถ้ามนุษย์จะรอให้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ   โดยไม่มีการเพาะปลูกเก็บเกี่ยวเลย  ก็คงไม่พอที่จะให้มนุษย์บริโภค  และไม่รู้ว่าจะหาของที่เกิดขึ้นเองเหล่านั้นได้ที่ไหนบ้าง  ความรู้  ความฉลาด ถ้าจะรอให้เกิดเองโดยไม่ต้องเล่าเรียนศึกษา ก็คะเนไม่ถูกว่าเมื่อไรจึงจะบังเอิญเกิดขึ้นเองได้  ทรัพย์สินเงินทองที่ชาวโลกพึงแสวงหาเป็นเครื่องเลี้ยงตน  และครอบครัว  ถ้าบุคคลพากันนั่งนอนคอยให้เกิดเองโดยไม่ต้องทำการงาน  หรือประกอบอาชีพอะไร  ก็ยากจะรู้ได้ว่าเมื่อไหร่จะถึงวันดีคืนดี  ซึ่งทรัพย์นั้นจะบังเอิญเกิดขึ้นเองได้  แต่ในขณะที่นั่งนอนคอยให้สิ่งทั้งหลายที่จำเป็นสำหรับชีวิตเกิดขึ้นเองนั้น ความทุกข์ยากภัยพิบัติก็จะเข้ามาประจำแทนที่จนเหลือที่จะเอาตัวรอดได้แล้ว  เพราะฉะนั้น  การหวังพึ่งสิ่งที่ต้องการซึ่งเกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ  หรือโดยธรรมชาตินั้นจึงไม่ดีแน่  เรื่องความสุขก็เช่นเดียวกัน ท่านจำกัดความว่า  โยคสุข  สุขเกิดแต่การประกอบกระทำ ก็เพื่อให้เป็นที่ตระหนักว่า  เมื่อต้องการสุขก็ต้องประกอบเหตุให้ถูก  จะมัวรอให้เกิดเองโดยธรรมชาติ  ก็น่าจะต้องรอเปล่าโดยแท้  ยิ่งในทางธรรมปฏิบัติ  ตามปกติภูมิแห่งจิตใจของคนต่ำอยู่แล้วเพราะเครื่องเหนี่ยวรั้งชักจูงในทางต่ำมีอยู่มาก  ถ้าไม่อบรมจิตใจให้นิยมในความดีให้สูงขึ้นจากพื้นเดิมบ้างเลย  ก็จะเปรียบเหมือนคนจมอยู่ในหลุมโสโครก  ไม่พยุงตนหรือตะเกียกตะกายขึ้นจากหลุมนั้น  มัวรอให้เหตุบังเอิญดลบันดาลให้ขึ้นไปได้เองก็คงรอเปล่า  และต้องจมอยู่อย่างนั้นตลอดไป

            เมื่อได้พิจารณาถึงผล คือความสุขชนิดที่บุคคลอาจควบคุมทำให้เกิดมีขึ้นได้เองฉะนี้แล้ว ก็ควรย้อนไปพิจารณาถึงเหตุที่พึงประกอบต่อไป

            ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า  ท่านที่อดทนต่อความยากลำบาก  ในยามลำบากและความรู้จักแก้ไข ไม่หลีกเลี่ยงความลำบากเป็นธรรมะส่วนเหตุที่เกิดสุขเช่นนั้น
            ข้อที่ท่านสอนให้รู้จักอดทนต่อความลำบากในยามลำบากนี้  ก็ด้วยมุ่งหมายที่จะให้บุคคลเป็นผู้มีน้ำใจเข้มแข็ง  ในการเผชิญความทุกข์ยากลำบากในโลกทั้งนี้เพราะความทุกข์ยากลำบาก และอุปสรรคทั้งหลายเป็นของประจำโลก  ซึ่งผู้เกิดมาทุกคนจะต้องประสบ  แม้ใคร ๆ จะไม่ชอบความทุกข์ยากลำบาก  ความไม่ชอบนั้นจะช่วยให้ความทุกข์ยากลำบาก เกรงกลัวหลบหนีไปก็หาไม่  ทั้งนี้เพราะความทุกข์ยากลำบากนั้น  ย่อมเกิดขึ้นจากเหตุหลายประการ  บางอย่างเกิดขึ้นตามเหตุการณ์ของโลก เช่นทุพภิกขภัย  อุทกภัย  วาตภัย และภัยสงคราม บางอย่างเกิดเพราะการกระทำของตนเอง  เช่นบุคคลบางคนผู้ต้องได้รับโทษเพราะความผิด  บางอย่างเกิดจากการไม่ทำ  เช่นบุคคลบางคนผู้ต้องได้รับความลำบางเพราะเกียจคร้านไม่ทำการงานเลี้ยงชีวิต  บางอย่างเกิดเนื่องจากความเกิดของคน  เช่นโรคภัยไข้เจ็บความแก่เฒ่าทุพพลภาพพิกลพิการ  ความลำบากทุกข์ยากดังกล่าวมานี้  จะเห็นได้ทั่วไป  ทั้งที่บุคคลอื่น และตัวเราเอง  ถ้าบุคคลไม่มีใจเข้มแข็งอดทนก็จะรู้สึกอึดอัดมองดูสิ่งแวดล้อมเต็มไปด้วยความทุกข์ร้อนมีใจห่อเหี่ยวเศร้าสลดไม่เป็นอันประกอบการงาน  ถ้าทนไม่ไหวก็ถึงกับบ่นคร่ำครวญถ้ายิ่งไปกว่านั้นก็จะถึงกับไม่อยากมีชีวิตอยู่เป็นอันว่าความลำบากนั้นเกิดขึ้นชั้นหนึ่งแล้ว  บุคคลยังเที่ยวเก็บมาประมวลสุมไว้ในใจและระทมทุกข์อีกชั้นหนึ่ง  จึงกลายเป็นความทุกข์ยากลำบากถึงสองชั้น  ทางพระพุทธศาสนาสอนให้บุคคลมีความอดทนต่อความลำบากนั้น  ๆ โดยใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผล  เพราะถ้าไม่พิจารณา สักแต่ว่าทนไม่เฉย ๆ ก็ดูไม่มีความหมายอะไร  และทนไม่ได้จริงจัง  สัตว์ต่างๆ เมื่อประสบความทุกข์ยาก  แม้จะไม่สามารถเยี่ยงมนุษย์ก็พยายามตะเกียกตะกายช่วยตัวเอง  เมื่อช่วยตัวเองไม่ได้ก็ต้องทนไปอย่างไม่รู้ว่าจะใช้ปัญญาสอนตนอย่างไร  เพราะมีความเจริญทางจิตใจน้อยกว่ามนุษย์ฉะนั้น  มนุษย์จึงควรอดทนโดยใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล  เพื่อจะได้รู้จักอดทนอย่างมีความหมาย  ในขณะเดียวกัน  ก็จะได้ค้นหาต้นเหตุของความลำบากนั้น ๆ แล้วคิดแก้ไขต่อไปด้วย
            ถ้าบุคคลหัดอบรมใจให้มีความเข้มแข็งอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากด้วยใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลแล้ว  ก็จะรู้จักพึ่งตัวเอง  ไม่เป็นคนอ่อนแอคอยแต่จะเหลียวหาผู้ช่วยเหลืออยู่รอบด้าน  เมื่อรู้จักพึ่งตัวเองก็จะรู้จักค้นหาต้นเหตุแห่งความลำบาก แล้วแก้ไขให้ถูกทาง  เช่นถ้าประสบความลำบากเพราะไม่ทำมาหาเลี้ยงชีพ  ก็จะได้คิดอ่านแก้ไข  ด้วยการลงมือทำการงานอาชีพอย่างจริงจัง  ถ้าประสบความลำบากเพราะประพฤติชั่ว  ก็จะได้คิดกลับตัวทำความดีต่อไปใหม่  ถ้าประสบความลำบากเพราะขาดแคลน หรือภัยต่าง ๆ ก็จะได้รู้จักประหยัด และคิดทำขึ้นเอง  หรือแก้ไขด้วยอุบายอย่างอื่นเป็นต้น  ก็จะได้ชื่อว่ารู้จักอดทนอย่างมีเหตุผล และหาทางแก้ไขไปในตัวด้วย

            ข้อที่ว่า  “ไม่หลีกเลี่ยงความลำบาก”  มิได้หมายความว่า  ให้ยอมจมอยู่ในความลำบากนั้นโดยไม่คิดแก้ไข  แท้จริงความลำบากบางอย่างต้องแก้ด้วยความลำบากก็มีอย่างที่เรียกหนามยอกต้องใช้หนามบ่ง  เช่นการเล่าเรียนศึกษา ผู้เล่าเรียนจะต้องทนความลำบากเพื่อจะกันและแก้ความลำบาก  อันเกิดจากความโง่เขลา  เป็นเหตุกดตัวเองให้ตกต่ำในการดำรงชีวิต  อนึ่ง  การที่จะแก้ความลำบากเพราะยากจนข้นแค้นเล่าก็จะต้องแก้ด้วยความหมั่นขยันทำการงาน   อันเป็นความลำบากเหมือนกัน  ยิ่งในการประพฤติธรรม ก็จะต้องทนลำบากในการฝึกหัดอบรมกาย วาจา  ใจ  ให้ห่างไกลจากความประพฤติชั่ว   และอาสวกิเลสอันเป็นต้นเหตุแห่งความยากลำบากอย่างใหญ่หลวง  แต่ความลำบากที่ต้องทนไปก่อนเพื่อให้พ้นความลำบาก  และประสบสุขภายหลังนี้  ย่อมเปรียบเหมือนยาขมซึ่งใช้บำบัดโรค  และทำความผาสุกให้เกิดขึ้นแก่ผู้มีโรคที่ทนขมในเวลากินได้   สาธุชนจึงไม่ควรเลี่ยงหนีความลำบากซึ่งจำเป็นต้องอดทนเพื่อใช้แก้ความลำบาก  เหมือนไม่กลัวยาขมซึ่งต้องกินเพื่อแก้โรคฉะนั้นผู้ที่เลี่ยงหนีความลำบากในการเล่าเรียนศึกษา  การประกอบอาชีพ  หรือการประพฤติธรรมนั้น  มีแต่จะตกต่ำเสื่อมทราม หาความเจริญมิได้  ชื่อว่าทอดตนให้ต้องจมอยู่ในความทุกข์ยากลำบาก  อันจะเกิดแต่ความยากจน  และความชั่วเป็นต้น ตลอดไป  แต่ถ้าผู้ใดอดทนต่อความลำบากที่เกิดขึ้นเพราะเหตุต่างๆ แล้วคิดแก้ไขแม้จะต้องใช้ความลำบากแก้ความลำบากบ้าง ก็ไม่เลี่ยงหนีเช่นนี้  ย่อมจะได้รับความสุขเกิดแต่การประกอบ  ซึ่งเป็นที่สุดแห่งความลำบาก ชื่อว่าทำชีวิตของตนให้มีประโยชน์  ไม่เป็นคนมักง่าย  และงมงาย  สามารถใช้พิจารณาเหตุผลแล้วช่วยเหลือตนเองให้พ้นความลำบากนั้นๆได้ ตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา  จัดเป็นกัลยาณชนผู้ควรเป็นเนติแบบแผนที่ท่านทั้งหลายจะพึงเจริญรอยตาม  เพื่อให้ได้รับความสุขสวัสดีสิ้นกาลนาน


จากหนังสือ      อริยธรรม ๑๐
                        กลุ่มศรัทธาธรรม (เชียงใหม่)
พิมพ์                สุวิภา  กลิ่นสุวรรณ์
จาก www.kanlayanatam.com มีหนังสือธรรมมะให้อ่านเยอะเลยค่ะ

1/13/11

เทคนิคการสร้างพลังภายในเพื่อความสำเร็จ



ณรงค์วิทย์ แสนทอง
วิทยากร ที่ปรึกษาและนักเขียนอิสระ
www.peoplevalue.co.th
คนเราเกิดมาพร้อมกับความฝัน เช่น ฝันอยากเป็นโน่น อยากทำนั่น อยากได้นี่ อยากอยู่ที่นี่ อยากไปที่นั่น และมีคนจำนวนไม่น้อยที่แปลงความฝันเป็นเป้าหมายที่จับต้องได้ เช่น อยากเป็นผู้จัดการภายใน 5 ปี อยากเก็บเงินให้ได้หนึ่งแสนบาทภายในสองปี อยากเรียนต่อปริญญาโทหลังจากทำงานแล้วสองปี อยาก......ฯลฯ
 
แต่…ความฝันมักจะกลายเป็นฝันค้าง ฝันสลาย เป้าหมายก็จะกลายเป็น เป้านิ่ง เป้าหนัก หรือบางครั้งก็กลายเป็นเป้าเน่าไปเลยเพราะเก็บไว้นานเกินไปเป้าหมายในชีวิตนั้นหมดอายุ เช่น ฝันอยากเป็นดาราตั้งแต่หน้าตายังเอาะๆตอนนี้หน้าเหี่ยวแล้วก็ยังไม่ได้เป็นเลย ฝันอยากจะเรียนต่อจนต่อนี้ลูกเรียนจบไปแล้วตัวเองยังไม่ทำอะไรเลย
 
สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเดินไปไม่ถึงฝัน เดินไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง       ก็เพราะ “ขาดพลังภายใน(หมายถึงแรงจูงใจ แรงฮึด ความมุ่งมั่น ความปรารถนา)” คือไม่มีแรงจูงใจมากพอ บางคนมีแรงจูงใจแต่ไม่ต่อเนื่อง บางคนมีแรงจูงใจแต่มีน้อยกว่าปัญหาอุปสรรคเลยทำให้ท้อแท้ และพลังภายในมีข้อเสียตรงที่ไปซื้อหาที่ไหนไม่ได้ต้องสร้างขึ้นมาเองจากข้างใน ไปหยิบยืมใครมาก็ไม่ได้ ที่สำคัญพลังภายในหมดไวเพราะรั่วไหลได้ง่าย โดยเฉพาะเวลาชีวิตเราท้อ พลังภายในแทบจะหมดเกลี้ยง สังเกตได้จากช่วงจังหวะที่ชีวิตที่เราย่ำแย่ เราจะรู้สึกเหนื่อยมากและเหนื่อยเร็วกว่าปกติทั้งๆที่เราไม่ได้ออกแรงทำอะไรเลย
 
ดังนั้น จึงอยากจะแนะนำตัวอย่างแนวทางการสร้างพลังภายในให้กับตัวเอง เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนชีวิตของเราไปสู่ความฝันที่เป็นจริง ไปสู่จุดหมายปลายทางแห่งความสำเร็จที่เรากำหนดไว้ เช่น
 
สร้างพลังภายในจากความกลัว
บางครั้งเราจำเป็นต้องหลอกตัวเองให้รู้สึกกลัวอนาคตบ้าง ถ้าเรารู้สึกกลัวว่าอนาคตเราจะสูญเสียบางสิ่งบางอย่างในชีวิตไป จะช่วยให้เรามีพลังภายในเพื่อป้องกันการสูญเสียในปัจจุบันได้ เหมือนกับคนที่ถูกหมอดูทำนายทายทักว่าจะมีเคราะห์ทั้งๆที่จะจริงหรือไม่ก็ไม่มีใครรู้ คนๆนั้นก็มักจะเกิดความกังวลหรือกลัว บอกให้ทำอะไรเพื่อป้องกันหรือลดเคราะห์กรรมที่จะมาถึง ก็ทำตามได้โดยไม่มีข้ออ้างใดๆทั้งๆที่เรื่องบางเรื่องต้องลงทุนต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ทำไมทำได้ ก็เพราะ...ความกลัวเปลี่ยนเป็นพลังภายในนั่นเอง
 
ลองถามตัวเราเองดูว่าในชีวิตที่ผ่านมาเราเคยรู้สึกมีพลังภายในเพราะความกลัวบ้างหรือไม่ถ้าเคยก็ลองนึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นดูว่าเกิดอะไรขึ้น พลังภายในเราเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เช่น บางคนที่ต้องสูญเสียคนที่รักหรือเสาหลักของครอบครัวไป ไม่มีใครให้เป็นที่พึ่งมีภาระที่ต้องดูแลคนรอบข้างอีกหลายชีวิต ตัวเองคือคนที่อยู่ในสถานะที่ต้องดูแลคนอื่นชีวิตตอนนั้นจึงต้องสู้เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ลองนึกดูว่าพลังภายในตอนนั้นมาจากไหน มาจากภาพของคนที่เราต้องดูแลฝังอยู่ในหัว ประทับอยู่ในใจตลอดเวลาใช่หรือไม่
 
และให้ถามว่าวันนี้เราจะรอให้สูญเสียก่อนแล้วค่อยสร้างพลังภายใน หรือเราจะสร้างพลังภายในจากความกลัวในอนาคตดีกว่าหรือไม่?
 
สร้างพลังภายในจากความอยาก
จริงๆแล้วทุกคนมีความอยากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เราต้องเปลี่ยนความอยากนั้นๆให้เป็นพลังภายใน เหมือนการเปลี่ยนอาหารที่กินให้เป็นพลังงาน สาเหตุที่คนยังไม่สามารถเปลี่ยนความอยากให้เป็นพลังได้ก็เพราะ “อยากหลายเรื่องเกินไป” ทำให้แรงฮึดน้อย มีอาการเบื่อๆอยากๆ ไม่ใช่ความปรารถนาที่แท้จริง รู้สึกอยากเพราะสิ่งกระตุ้นภายนอก ไม่ว่าจากคนรอบข้าง จากการบริโภคสื่อ หรือกระแสสังคม
 
ดังนั้น ถ้าต้องการสร้างพลังภายในจากความอยาก ขอแนะนำให้สะสมความอยากให้มากๆ โดยการเพิ่มระดับของเป้าหมายที่ต้องการ เช่น ถ้าต้องการเก็บเงินเพื่อไว้ใช้ยามจำเป็น เราอาจจะมีแรงฮึดน้อย ก็ให้เปลี่ยนเป้าหมายให้ท้าทายมากขึ้น เช่น เก็บเงินเพื่อซื้อบ้าน เก็บเงินเพื่อท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือเก็บเงินเพื่อส่งลูกเรียนให้จบด๊อกเตอร์ เพราะเป้าหมายที่ท้าทายมักจะมีความหมายต่อความอยาก และระดับความอยากก็จะมีผลโดยตรงต่อพลังภายในที่เกิดขึ้น ถ้าความอยากของเราคนเดียวไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้เราเกิดแรงฮึด ก็อาจจะต้องเอาไปบวกกับความคาดหวังของคนอื่นเข้ามาอีกแรงหนึ่งด้วยโดยการไปสร้างพันธะสัญญากับคนรอบข้างว่าเราจะทำโน่นทำนี่ ทั้งนี้ เพื่อให้คนรอบข้างช่วยเสริมแรงบวกทางใจให้เราอีกทางหนึ่งด้วย
 
สร้างพลังภายในจากความสำเร็จของผู้อื่น
ถ้าเราเป็นไข้หวัดธรรมดาร่างกายเราอาจจะมีภูมิคุ้มกันได้ เป็นก็หายเองได้ แต่ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่เราจำเป็นต้องพึ่งยาจากหมอจึงจะหาย เช่นเดียวกันกับการสร้างพลังภายในให้กับตัวเอง บางครั้งเชื้อเพลิงที่จะนำมาสร้างพลังภายในมีน้อยหรือหมด เราสามารถไปหยิบยืมเอาความสำเร็จของผู้อื่นมาเป็นเชื้อเพลิงทางใจได้ เพราะความสำเร็จของเรามักจะมีพลังต่อจิตใจของเรา โดยเฉพาะความสำเร็จของคนที่ตรงกับเป้าหมายชีวิตของเรามักจะมีพลังมากกว่าความสำเร็จในเรื่องอื่น ยิ่งเราได้มีโอกาสได้เข้าไปใกล้ชิดหรือได้ฟัง ได้เห็น ได้ยินคนที่ประสบความสำเร็จถ่ายทอดมาโดยตรง ยิ่งทำให้เกิดพลังมากกว่าการอ่านหรือฟังจากสื่อต่างๆ เพราะในขณะที่ผู้ที่ประสบความสำเร็จถ่ายทอดแนวคิดหรือประสบการณ์ออกมานั้น เขาได้ส่งพลังภายในของเขาออกมาให้เราสัมผัสได้ด้วยสีหน้า แววตา และท่าทาที่ทรงพลังยิ่งกว่าการอ่านหนังสือเสียอีก
 
ใช้พลังงานภายในให้คุ้มค่าในช่วงเวลาที่ Peak
พลังภายในเราไม่แตกต่างอะไรจากไฟในแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือที่มีเต็มหลังจากชาร์ต เมื่อใช้ไปนานๆแบตลดลงๆจนเหลือน้อยหรือหมดเกลี้ยง สิ่งที่น่าเสียดายคือบางช่วงเรามีพลังภายในเยอะมาก แต่เราไม่ได้ใช้ให้คุ้มค่า ปล่อยให้พลังภายในหมดไปตามกาลเวลา ช่วงเวลาที่เราประสบความสำเร็จในชีวิตบางอย่างเป็นช่วงที่เรามีพลังภายในสูงมาก เราน่าจะนำเอาพลังงานส่วนเกินนั้นไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับชีวิตให้มากที่สุด เช่น เพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งใหม่ๆ เราควรจะรีบลงมือทำโน่นทำนี่ คิดนั่นคิดนี่ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อยากอ่านหนังสือให้รีบอ่าน อยากปรับปรุงตัวเองให้รีบทำ อยากคิดโครงการให้รีบคิดรีบเขียน ช่วงเวลานี้ร่างกายและจิตใจของเรามีความอดทนสูงมาก จะทำงานดึกจะมาทำงานแต่เช้าก็ไม่มีปัญหาอะไรเพราะพลังภายในมากพอที่จะจัดการกับข้ออ้าง จัดการกับปัญหาอุปสรรคทั้งหลายได้
 
ประหยัดการใช้พลังภายในในยามที่ชีวิตมีปัญหา
ถ้ามีเงินไม่มากอย่าพยายามซื้อโน่นซื้อนี่ ขอให้ใช้เงินอย่างประหยัด เพราะถ้าเงินน้อยแล้วใช้ไม่ประหยัดอีกยิ่งทำให้ชีวิตเดินเข้าไปสู่หุบเหวแห่งการเป็นหนี้ได้ง่าย เช่นเดียวกันกับช่วงจังหวะชีวิตที่พลังภายในเราตกต่ำหรือเหลือน้อย อย่าพยายามหาเรื่องที่ต้องบั่นทอนกำลังใจเข้ามาเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเดิมที่คั่งค้างอยู่ในจิตใจหรือเรื่องใหม่ที่ยังมาไม่ถึง เราต้องพยายามรักษาระดับแบตเตอรี่ใจให้ใช้ได้นานที่สุด  หรือไม่ก็ต้องรีบหน้าทางไปชาร์ตแบตใหม่อย่างเร่งด่วน
 
จงเก็บสะสมพลังภายในอย่างต่อเนื่อง
คนเรามักจะมีพลังภายในแบบวูบวาบ เวลามีก็มีเยอะเกินไปจนเหลือใช้ เวลาหมดก็หมดเลย เช่น คนจะเริ่มไปหากำลังใจจากพระ จากหมอดูหมอเดา จากที่ปรึกษา จากหมอ ก็ต่อเมื่อตัวเองมีความทุกข์มากแล้วเท่านั้น คนเราจะไปฝึกนั่งสมาธิ สวดมนต์ก็ต่อเมื่อมีปัญหาชีวิตที่หาทางออกไม่ได้ด้วยตัวเองแล้ว ซึ่งบางครั้งพลังภายในที่เราใช้เวลาสร้างเพียงสั้นๆไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันนั้นไม่ทันกับการใช้งานหรอก ทางที่ดีเราควรจะรู้จักสะสมพลังภายในให้กับตัวเองอย่างต่อเนื่อง เช่น การบริโภคข้อมูลข่าวสารความสำเร็จของผู้อื่น ฝึกจิตใจให้สามารถสร้างพลังภายในด้วยตัวเราเอง แบ่งปันความสำเร็จของตัวเองให้ผู้อื่น เพราะทุกครั้งที่เราแบ่งปัน เราจะได้พลังภายในกลับคืนมาเสมอ ไม่เชื่อลองพูดถึงความสำเร็จของตัวเองให้คนอื่นฟัง ให้สังเกตว่าตอนเรากำลังพูดหรือเพิ่งพูดเสร็จ เรารู้สึกอย่างไร มีไฟในตัวเองเพิ่มมากขึ้นหรือไม่
 
ใช้พลังภายในเผาผลาญข้ออ้างเพื่อเปิดทางเดินให้ชีวิต
ถ้าเราต้องการให้รถยนต์วิ่งได้เร็วขึ้นโดยมีกำลังเครื่องยนต์เท่าเดิมคือต้องลดน้ำหนักการบรรทุกลงโดยการเอาสัมภาระบางอย่างออกจากรถ และรถคันนี้ต้องวิ่งด้วยความเร็วสม่ำเสมอไม่ใช่วิ่งๆหยุดๆโดยการเหยียบคันเร่งสลับกับการเหยียบเบรกไปตลอดทาง
 
ชีวิตคนเราก็เช่นกันถ้าเราต้องการให้ชีวิตเดินไปข้างหน้าได้เร็วอย่างต่อเนื่อง เราต้องกำจัดภาระที่เป็นตัวถ่วงในชีวิตออกจากจิตใจให้ได้ ภาระบรรทุกของรถยนต์ชีวิตคือ ข้ออ้างและความกังวลซึ่งจะทำให้ชีวิตเราสูญเสียพลังงานไปกับการคิดทั้งสองเรื่องนี้
 
เราต้องพยายามสร้างพลังภายในให้เกิดขึ้นในใจให้มากพอที่จะกำจัดข้ออ้างและความกังวลให้หมดไป หรือน้อยลง เพื่อให้ชีวิตของเราเดินไปข้างหน้าได้ดีกว่าและเร็วกว่า
 
          สรุป พลังงานที่ขับเคลื่อนชีวิตของคนเรามีทั้งมาจากสิ่งกระตุ้นภายนอก และการสร้างขึ้นมาจากภายใน บางครั้งเราต้องอาศัยการพ่วงแบตเตอรี่จากรถยนต์ชีวิตคันอื่นในกรณีชีวิตเราแบตหมดเกลี้ยง บางครั้งเราจำเป็นต้องสร้างมาจากภายในของเราเอง โดยใช้ความอยากและความกลัวเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังภายในเพื่อใช้ในชีวิตตัวเองและถ้ามีเหลือก็ควรจะเผื่อแผ่ให้เพื่อนมนุษย์คนอื่นบ้างเช่นกัน พลังภายในแปลกตรงที่เรายิ่งให้คนอื่นเรายิ่งมีพลังภายในเพิ่มขึ้น ลองถามตัวเองดูว่าทุกวันนี้เรามีพลังงานภายในมากพอที่จะทำให้ความสำเร็จในชีวิตเป็นจริงแล้วหรือยัง และพลังภายในของเรามาจากข้างในจริงๆหรือมาจากสิ่งกระตุ้นภายนอก และคำถามสุดท้ายคือ เราจะทำอย่างไรให้มีพลังภายในมากพอและต่อเนื่อง
 
 

1/11/11

บันได 6 ขั้นเพื่อก้าวสู่สุดยอดการบริหารเวลาเพื่อความสำเร็จ


เขียนโดย ทองพันชั่ง พงษ์วารินทร์ (www.bt-training.com)
Email:tpongvarin@yahoo.com ,Tel.089-8118340

เมื่อวันจันทร์ และวันอังคารที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปบรรยาย หลักสูตร การบริหารเวลาเพื่อความสำเร็จ (Manage Your Time) ให้กับ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนสามารถบริหารเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อช่วยสร้างสมดุลย์ระหว่างชีวิตครอบครัว และชีวิตการทำงาน จึงอยากนำประสบการณ์บางส่วนมาแลกเปลี่ยน ผมขอถามท่านก่อนว่า
ท่านเคยถามตัวเองอย่างนี้บ้างหรือไม่?
ฉันอยากจะมีเวลาซักวันละ 30 ชั่วโมง”
"ฉันอยากมีความสุขกับชีวิตมากกว่านี้”
“ฉันมักจะถูกไฟลนก้นอยู่เสมอ”
 “ฉันหาสมดุลของชีวิตการทำงาน และครอบครัวไม่ได้” 
“ฉันเครียดเหลือเกินแล้วใช่ไหมเนี้ย?”
“แล้วฉันจะบริหารชีวิตอย่างไรดีจึงจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จ?”
เวลา คือสิ่งที่สำคัญ เพราะแล้วหมดไป มีเงินเท่าไรก็ไม่สามารถหาซื้อได้ ทุกคนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน หรือ 1,440 นาที แต่ทำไม? บางคนถึงใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีครอบครัวที่อบอุ่น และการงานก็เจริญก้าวหน้า ตรงข้ามกับใครอีกหลายคน ที่ต้องทำงานกลับบ้านดึก หอบงานกลับไปทำต่อที่บ้าน เสาร์ อาทิตย์ ก็ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว นี่นะหรือชีวิตของฉัน? หลายคนติดอยู่กับกับดักของความเร่งด่วน เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น มีงานมากจนเกินความสามารถ หรือไม่กล้ามอบหมายงานให้คนอื่นทำ เลยทำเองทั้งหมด ไม่กล้าให้คนอื่นทำงานแทน เพราะกลัวขาดความสำคัญ หรือ จัดลำดับงานไม่ได้ เพราะงานทุกชิ้น ก็ด่วนทุกชิ้น เป็นต้น
การบริหารเวลาถือเป็นเรื่องที่สำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม เพราะคุณค่าของเวลานั้น ขึ้นอยู่กับคุณค่าของการใช้เวลาของตัวเราเอง เพราะถ้าหากเราใช้เวลาในปัจจุบันได้อย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด นั่นก็จะเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จในอนาคตของเราอย่างแน่นอน ตรงข้าม หากเราปล่อยชีวิตไปวันๆ จุดจบสุดท้ายของชีวิต ก็คือความล้มเหลวโดยไม่ต้องสงสัย
วันนี้จึงอยากให้ทุกท่านลองคิดดูนะครับว่าท่านได้ใช้เวลาไปคุ้มค่า มากน้อยเพียงใด และสิ่งที่ทำไปในแต่ละวันนั้นมีส่วนช่วยทำให้ท่านบรรลุความฝันที่ได้ตั้งใจเอาไว้หรือไม่? ถ้าใครตอบว่า "ใช่" แล้วละก็ ผมก็ดีใจด้วย แต่ถ้าหากใครตอบว่า "ไม่ใช่" ผมก็ดีใจด้วยเหมือนกัน เพราะว่าอย่างน้อยท่านก็รู้ตัวว่า ถึงเวลาแล้วที่ท่านจะต้องรีบปรับปรุงตัว แต่ถ้าใครตอบว่า "ไม่รู้ หรือไม่แน่ใจ ว่าใช้เวลาไปคุ้มหรือไม่" แล้วละก็ควรรีบวิเคราะห์ตนเองโดยด่วนเลยละครับ เพราะเวลาทุกนาทีเป็นเงินเป็นทอง ต้องใช้อย่างคุ้มค่า มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งผมแลกเปลี่ยนแนวคิด โดยเรียกว่า บันได 6 ขั้นในการบริหารเวลาเพื่อความสำเร็จ ดังนี้
1. มีเป้าหมายชีวิตชัดเจน โดยเป้าหมายนั้นต้อง วัดได้ เป็นไปได้ ทำได้จริง ไม่เกินกำลังความสามารถของเรา
2. จัดลำดับความสำคัญเร่ง ด่วน อะไรสำคัญ กว่า เร่งด่วนกว่า ก็ลงมือจัดการกับงานนั้นก่อน จากนั้นก็ค่อยๆจัดการกับงานส่วนที่เหลือ สำหรับหลักการที่นิยมมากที่สุดคือ ควรจัดการกับงานที่สำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน ซึ่งงานประเภทนี้มักจะเป็นการวางแผนงา การป้องกัน การพัฒนา เป็นต้น
3. ประเมินเวลาที่จะใช้จริงก่อนเริ่มงานในแต่ละวัน โดยก่อนที่จะเลิกงานในแต่ละวันควรวางแผนการปฏิบัติงาน เพื่อกำหนดกิจกรรมที่จะต้องปฏิบัติ และประเมินเวลาที่ต้องใช้ในแต่ละกิจกรรมนั้น นอกจากนี้ควรเผื่อเวลาเอาไว้อย่างน้อยอีกซัก 30นาที หรือ 1 ชั่วโมง เผื่องานด่วนเข้ามา
4. ลงมือปฏิบัติตามกิจกรรมในแต่ละช่วงเวลาอย่างเคร่งครัด นั่นหมายถึงว่าท่านต้องมุ่งมั่นต่องานที่ปฏิบัติ โดยใช้เวลาตามที่ได้กำหนดไว้ ถ้าหากใช้เกินเวลาต้องรีบเร่งทำงานนั้นให้เสร็จโดยเร็วที่สุด
5. กำจัดสิ่งรบกวน แน่นอนครับในแต่ละวันจะมีพวกงานด่วน งานเร่ง งานจร การขอคำปรึกษา การประชุมนอกแผนงาน ซึ่งเราไม่ได้วางแผนเอาไว้ก่อนล่วงหน้า ซึ่งเราต้องเรียนรู้ที่จะกำจัดงานประเภทเหล่านี้ออกไปบ้าง อย่าไปรับเอามาเสียทั้งหมด (แต่อย่าทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่าเราปัดงาน หรือเป็นคนแล้งน้ำใจ ไม่ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น) เพราะงานเหล่านั้นจะรบกวนเวลาที่เราได้กำหนดเอาไว้ ซึ่งงานเหล่านั้นอาจกระทบต่อแผนการใช้เวลาที่เรากำหนดเอาไว้
6.  ทบทวนการใช้เวลา และเรียนรู้จากการใช้เวลาที่ผิดพลาด หลังจากใช้เวลาไปจนหมดวัน ก็มาทบทวนดูซิว่า เราใช้เวลาไปกับงานที่ช่วยสนับสนุนทำให้ชีวิตของเราเจริญก้าวหน้า งานที่ไม่เกี่ยวกับงานของเรา หรือใช้เวลาไปกับสิ่งที่ไม่ควรทำไปมากน้อยเพียงใด จากนั้นก็พิจารณาเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน
               
                นี่ก็คือบันได 6 ขั้น เพื่อก้าวสู่สุดยอดการบริหารเวลาเพื่อความสำเร็จครับ สุดท้าย จากการวิเคราะห์ผู้ที่มีความสามารถในการบริหารเวลาได้อย่างยอดเยี่ยมนั้นมีสิ่งที่เหมือนกันก็คือ "ความมีวินัยในตนเอง" เพราะความมีวินัยนี่แหละครับ คือปัจจัย ที่สำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานของความสำเร็จในทุกๆสิ่งที่เราต้องการ ขอให้โชคดี และสนุกสนาน กับการบริหารเวลากันทุกคนนะครับ.............

1/6/11

วิธีเจริญอสุภะ

วิธีเจริญอสุภะ

อนึ่ง เมื่อจะเจริญอสุภะ พึงเจริญดังนี้ก็ได้ว่า อัตถิ อิมัสมิง กาเย ของไม่งามเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดมีอยู่ในกายนี้ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มังสา นะหารู อัฏฐี อัฏฐิมิญชัง วักกัง คือ เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หะทะยัง ยะกะนัง กิโลมะกัง ปิหะกัง ปัปผาสัง คือเนื้อหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด อันตัง อันตะคุณัง อุทะริยัง กะรีสัง คือ ไส้ใหญ่ สายเหนี่ยวไส้ ราก ขี้(คูถ) มัตถะเกมัตถะลุงคังคือ เยื่อในสมองศีรษะ ปิตตัง เสมหัง ปุพโพ โลหิตัง เสโท เมโท คือ น้ำดี น้ำเสมหะ น้ำเหลืองน้ำหนอง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น อัสสุ วะสา เขโฬ สิงฆานิกา ละสิกา มุตตัง คือ น้ำตา น้ำมันเปลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำเยี่ยว

ผมนั้น งอกอยูตามหนังศีรษะ ดำบ้างขาวบ้าง ขน นั้น งอกอยู่ตามขุมขนทั่วกาย เว้นไว้แต่ฝ่ามือฝ่าเท้า เล็บ นั้น งอกอยู่ตามปลายมือปลายเท้า ฟันนั้น งอกอยู่ตามกระดูกคางข้างบนข้างล่าง สำหรับ เคี้ยวอาหาร ชุ่มอยู่ด้วยน้ำลายเป็นนิตย์ หนัง นั้น หุ้มทั่วกาย เอาผิวนอกออกเสียแล้ว มีสีขาว เนื้อ นั้น มีสีแดง เหมือนกับชิ้นเนื้อสัตว์ เอ็น นั้น รัดรวบโครงกระดูกไว้ มีสีขาว กระดูก นั้น เป็นร่างโครงค้ำแข้งอยู่ในกาย มีสีขาว เยื่อในกระดูก นั้น มีสีขาว เหมือนกับยอดหวายที่เผาไฟอ่อน แล้วใส่ไว้ในกระบอกไม้ฉะนั้น เยื่อในขมองศีรษะ นั้น เป็นยวงๆ เหมือนกับเยื่อในหอจุ๊บแจง ม้าม นั้น คือแผ่นเนื้อมีสีแดงคล้ำๆ สองแผ่นมีขั้วอันเดียวกัน เหมือนกับผลมะม่วงสองผลมีขั้วอันเดียวกันฉะนั้น อยู่ข้างซ้ายเคียงกับหัวใจ เนื้อหัวใจ นั้น มีสีแดง สัณฐานดังดอกบัวตูม ตั้งอยู่ท่ามกลางอก ตับ นั้น คือแผ่นเนื้อสองแผ่น สีแดงคล้ำๆ ตั้งอยู่ข้างขวาเคียงเนื้อหัวใจ พังผืด นั้น มีสีขาว เหนี่ยวหนังกับเนื้อ เอ็นกับเนื้อ กระดูกกับเอ็น ติดกันไว้บ้าง ไต นั้น เป็นชิ้นเนื้อสีดำคล้ำเหมือนกะลิ้นโคดำอยู่ชายโครงข้างซ้าย ปอด นั้น เป็นแผ่นเนื้อสีแดงคล้ำ ชายเป็นแฉกปกเนื้อหัวใจอยู่ท่ามกลางอก ไส้ใหญ่ นั้น ปลายข้างหนึ่งอยู่คอหอย ปลายข้างหนึ่งอยู่ทวาร ทบไปทบมา มีสีขาว ชุ่มอยู่ด้วยเลือดในท้อง สายเหนี่ยวไส้ใหญ่ นั้น มีสีขาว ราก นั้น คือของที่กลืนกินแล้วสำรอกออกมาเสียฉะนั้น คูถ นั้น คือของที่กินขังอยู่ในท้องแล้วถ่ายออกมาฉะนั้น น้ำดี นั้น สีเขียวคล้ำๆ ที่เป็นฝักอยู่ท่ามกลางอก ที่ไม่เป็นฝักซึมซาบอยู่ในกาย น้ำเสมหะ นั้น มีสีขาวคล้ำๆ เป็นเมือกๆ ติดอยู่กับพื้นไส้ข้างใน น้ำเหลืองน้ำหนอง นั้น มีอยู่ในที่สรีระมีบาดแผล เป็นต้น น้ำเลือด นั้น มีอยู่ตามขุมถูกในกายและซึมซาบอยู่ในกาย น้ำเหงื่อ นั้น ซ่านออกตามขุมขนในกายเมื่อร้อนหรือกินของเผ็ด น้ำมันข้น นั้น มีสีเหลือง ติดอยู่กับหนังต่อเนื้อ น้ำตา นั้น ไหลออกมาจากในกายเมื่อไม่สบาย น้ำมันเหลว นั้น เป็นเปลวอยู่ในพุงเหมือนกับเปลวสุกร น้ำลาย นั้น ใสบ้าง ข้นบ้าง น้ำมูก นั้น เหลวบ้า ข้นบ้าง เป็นยวงออกจากนาสิก น้ำไขข้อ นั้น ติดอยู่ตามข้อกระดูก น้ำเยี่ยว นั้น เกรอะออกจากรากแลคูถ
อะยะเมวะ กาโย กายประชุมส่วนเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดนี้นั่นแลอุทธัง ปาทะตะลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา อะโธ เกสะมัตถะกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป ตะจะปะริยันโต มันมีหนังหุ้มอยู่ที่สุดรอบปุโร นานับปะการัสสะ อะสุจิโน มันเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เชคุจโฉ ปะฏิกุโล แต่ล้วนเป็นของไม่งามมีกลิ่นเหม็น ปฏิกูลน่าเกลียดหมดทั้งสิ้น อสุภกัมมัฏฐานหรืออสุภสัญญานี้ เป็นข้าศึกแก่ราคะ ความกำหนัดยินดีโดยตรง ผู้ใดมาเจริญอสุภะ เห็นเป็นของไม่งามในกาย เห็นกายเป็นของไม่งามปฏิกูลน่าเกลียด จนเกิดความเบื่อหน่ายไม่กำหนัดยินดี ดับราคะ โทสะ โมหะ เสียได้ ผู้นั้นได้ชื่อว่า ดื่มกินซึ่งรสพระนฤพานเป็นสุขอย่างยิ่ง 

เหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสรรเสริญ กายะคตาสติอสุภกัมมัฏฐานนี้ว่า “ผู้ใดได้เจริญกายคตาสตินี้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าบริโภคซึ่งรสคือนฤพาน เป็นธรรมที่ผู้ตายไม่มี” ดังนี้ นฤพานนั้นก็ดับราคะ โทสะ โมหะนั้นเอง 
เหตุนั้น เราทั้งหลายจง อย่าได้ประมาทในกายะคตาสติ นี้เลย อุตส่าห์เจริญเถิด จะได้ประสพพบพระนฤพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เลิศกว่าธรรมหมดทั้งสิ้นนี้ วิธีเจริญอสุภะ
ปอด: http://www-medlib.med.utah.edu/WebPath/jpeg1/LUNG001.jpg
หัวใจ: http://www-medlib.med.utah.edu/WebPath/jpeg5/CV001.jpg
ตับ: http://www-medlib.med.utah.edu/WebPath/jpeg4/LIVER001.jpg
กระดูก: http://vhgallery.gsm.com/subscribe/happy_halloween.jpg
ไต: http://www-medlib.med.utah.edu/WebPath/jpeg1/RENAL003.jpg
สมอง: http://www-medlib.med.utah.edu/WebPath/jpeg5/CNS315.jpg
ที่มา จากคุณปราณ เวปบอร์ดพลังจิตดอทคอม
  

อานิสงส์ของเมตตา ๑๑ อย่าง

ผู้เจริญเมตตาจิตนั้น ย่อมได้อานิสงส์ ๑๑ อย่างดังนี้ คือ
 (๑)
หลับก็เป็นสุข
ไม่ทุรนทุราย ละเมอไปต่างๆ ฯลฯ

 (๒)
ตื่นก็เป็นสุข
คือ ตื่นด้วยความอิ่ม ไม่ตื่นแบบหวาดผวา งัวเงีย

 (๓)
ไม่ฝันร้าย
คนเจริญเมตตาจะฝันดี รู้สึกสบายใจในเรื่องที่ฝันเห็น

 (๔)
อมนุษย์ทั้งหลายรักใคร่
อมนุษย์ตรงนี้หมายถึงผู้ที่ไม่ใช่มนุษย์ทั้งหมด ได้แก่
สัตว์เดรัจฉาน เทวดา เปรต อสุรกาย ที่เรียกว่า ผี และ
สัตว์นรก ... ในที่ใดที่มีภัย อมนุษย์ทั้งหมดจะรักใคร่
ไม่ทำร้ายผู้เจริญเมตตา

 (๕)
มนุษย์ทั้งหลายรักใคร่
คนที่มีเมตตา ไม่พยาบาทกับใครนั้น ทำให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
รักใคร่เอ็นดูสงสาร อยากจะช่วยเหลือ

 (๖)
เทวดาทั้งหลายย่อมคุ้มครองผู้นั้น
เทวดานั้นชอบคนดี ย่อมคุ้มครองคนดี จึงกล่าวกันว่า
มีเราบางคนมีเทวดาติดตามอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้ก็เพราะว่า
เทวดาบางองค์นั้นเคยเป็นแม่ของเราในชาติก่อน หรือเคย
เป็นพ่อหรือเคยเป็นเพื่อน หรือบางท่านไม่เคยเป็นอะไรกัน
แต่ได้เมตตาจิตจากเรา ก็ให้การคุ้มครองรักษา

 (๗)
ไฟ ศาสตรา อาวุธ ยาพิษ ไม่อาจจะกร้ำกรายผู้นั้นได้
อันนี้สำคัญมาก ถ้าใครสามารถนำของขลังคือ เมตตา เข้ามา
ไว้ในตัวเราได้แล้ว คือ ทำเมตตาจิตนี้ให้เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่จำเป็น
ต้องเสกน้ำล้างหน้า ไม่จำเป็นต้องแขวนพระที่เจริญเมตตาคุณ
เข้ามาไว้ในตัว นี้เป็นอานิสงส์ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสไว้ 

(๘)
ผิวหน้าย่อมผ่องใส
คนเจริญเมตตานี้ ย่อมมีผิวพรรณผ่องใส
ผู้ที่เจริญเมตตามากมองดูแล้วสบายใจ เข้าไปหาท่านแล้วชื่นใจ
เป็นที่เคารพเลื่อมใสของคนทั่วไป ผิวพรรณก็ผ่องใสด้วย
อายุก็ยืน ผิวหน้าไม่มีริ้วรอยแห่งความโกรธ

 (๙)
จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิได้เร็ว
ถ้าใครเจริญเมตตาอยู่เป็นประจำบ่อยๆ ทุกวัน ทุกคืน
จิตจะเป็นสมาธิได้ไวกว่าคนที่ไม่เจริญเมตตา

 (๑๐)
เมื่อตายเป็นผู้ไม่หลงตาย
เพราะการเจริญเมตตาจิตบ่อยๆ ความหลงตายในขณะตาย
จะไม่มี ไม่เพ้อ บางคนก่อนตายเพ้อย่างนั้นอย่างนี้ จำอะไร
ไม่ได้ แม้แต่คนใกล้ชิด แต่คนที่เจริญเมตตาจิตนี้เป็นคน
ไม่หลงตาย

 (๑๑)
เมื่อจากโลกนี้ไปก็ไปบังเกิดในพรหมโลก
นี้หมายถึงท่านผู้ใดที่ได้ฌานโดยเฉพาะเท่านั้น สำหรับผู้ที่
ยังไม่ได้ฌาน ก็ไปบังเกิดตามภพภูมิของตนๆ 

พร 4ประการของท่าน ว.วชิรเมธี

1. อย่าเป็นนักจับผิด
คนที่คอยจับผิดคนอื่น แสดงว่า หลงตัวเองว่าเป็นคนดีกว่าคนอื่น ไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง กิเลสฟูท่วมหัว ยังไม่รู้จักตัวอีก
คนที่ชอบจับผิด จิตใจจะหม่นหมอง ไม่มีโอกาส จิตประภัสสร ฉะนั้น จงมองคน มองโลกในแง่ดี แม้ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ถ้ามองเป็น ก็เป็นสุข
2. อย่ามัวแต่คิดริษยา
แข่งกันดี ไม่ดีสักคน ผลัดกันดี ได้ดีทุกคน
คนเราต้องมีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
คนที่เราริษยาเป็นการส่วนตัว มีชื่อว่า เจ้ากรรมนายเวร ถ้าเขาสุข เราจะทุกข์ ฉะนั้น เราต้องถอดถอน
ความริษยาออกจากใจเรา เพราะไฟริษยา เป็น ‘ไฟสุมขอน’ ( ไฟเย็น) เราริษยา 1 คน เราก็มีทุกข์ 1 ก้อน
เราสามารถถอดถอนความริษยาออกจากใจเราโดยใช้วิธี ‘แผ่เมตตา’ หรือ ซื้อโคมมา แล้วเขียนชื่อคนที่เราริษยา แล้วปล่อยให้ลอยไป
3. อย่าเสียเวลากับความหลัง
90% ของคนที่ทุกข์ เกิดจากการย้ำคิดย้ำทำ ‘ปล่อยไม่ลง ปลงไม่เป็น’
มนุษย์ที่สลัดความหลังไม่ออก เหมือนมนุษย์ที่เดินขึ้นเขาพร้อมแบกเครื่องเคราต่างๆ ไว้ที่หลังขึ้นไปด้วย
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว จงปล่อยมันซะ ‘อย่าปล่อยให้คมมีดแห่งอดีต มากรีดปัจจุบัน’
‘อยู่กับปัจจุบันให้เป็น’ ให้กายอยู่กับจิต จิตอยู่กับกาย คือมี ‘สติ’ กำกับตลอดเวลา
4. อย่าพังเพราะไม่รู้จักพอ
‘ตัณหา’ ที่มีปัญหา คือ ความโลภ ความอยากที่เกินพอดี เหมือนทะเลไม่เคยอิ่มด้วยน้ำ ไฟไม่เคยอิ่มด้วยเชื้อ ธรรมชาติของตัณหา คือ ‘ยิ่งเติมยิ่งไม่เต็ม’
ทุกอย่างต้องดูคุณค่าที่แท้ ไม่ใช่ คุณค่าเทียม เช่น คุณค่าที่แท้ของนาฬิกา คืออะไร คือ ไว้ดูเวลาไม่ใช่มีไว้ใส่เพื่อความโก้หรู
คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์มือถือ คืออะไร คือไว้สื่อสาร แต่องค์ประกอบอื่นๆ ที่เสริมมาไม่ใช่คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์
เราต้องถามตัวเองว่า ‘เกิดมาทำไม’ ‘คุณค่าที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ตรงไหน’ ตามหา ‘แก่น’ ของชีวิตให้เจอ
คำว่า ‘พอดี’ คือ ถ้า ‘พอ’ แล้วจะ ‘ดี’ รู้จัก ‘พอ’ จะมีชีวิตอย่างมีความสุข
แหล่งที่มา : http://psomeasy.blogspot.com/2008/10/4.html

1/4/11

อานิสงส์ของการสวดมนต์แต่ละบท

จากหนังสือ แสกนกรรม2


พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ พาหุงมหากา อิติปิโสเท่าอายุ+1 การสวดมนต์บทนี้มีความหมายว่าจะชนะอุปสรรคทั้งภายในจิตใจและภายนอกคือชนะอุปสรรคต่อหน้าที่การงาน ศัตรูหมู่มารและทำให้ชีวิตราบรื่นต่ออุปสรรคและการสวดมนต์ อิติปิโสเท่าอายุ+1 นั้นทำให้ต่อชะตาชีวิตและผ่านวิบากกรรมที่ได้รับให้เบาบางลงได้


ชินบัญชร ทำให้ใบหน้า วาจาศักดิ์สิทธิ์ พูดจาน่าเชื่อถือ เจรจาดี มีคนเมตตา มีคนเกื้อกูลดีมีบริวารมากมาย


สวดพระไตรปิฏก ทำให้เป็นผู้มีสติ ปัญญาดี จิตมีสมาธิสูง ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง


สวดพระธัมมะจัก ทำให้เคราะห์กรมหนัก เวรกรรมหนัก ๆ ทุเลาลงและทำให้อาการเจ็บไข้ได้ป่วยหายได้ และสามารถล้างอาถรรพ์คุณไสยมนต์ดำได้ โรคภัยทุเลาเบาบาง


สวดพระอาการวัตตาสูตร  ทำให้จิตมีสมาธิสูง เข้าสู่สมาธิได้ง่ายและทำให้เจริญรุ่งเรืองทางด้านทรัพย์ และมีจิตที่สูงกว่ากิเลส