ที่มาหนังสือ: นิพพานนอกวัด/ผู้แต่ง:พระอาจารย์วิเชียร วชิรปัญโญ
วันนี้มีหนังสือมาแนะนำอีกเช่นเคย คิดว่าสำหรับผู้ที่ยังทำงาน มีครอบครัวที่
ยังต้องดูแล ก็สามารถรักษาจิตใจหรือบวชใจอยู่ที่บ้านได้ อ่านแล้วเป็นอะไรที่
รู้สึกว่าการปฏิบัติธรรมมันไม่ได้ยุ่งยาก ต้องเข้าไปนั่งสมาธิหรือสวดมนต์
ที่วัดอย่างเดียวสามารถทำได้ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ได้เพราะเราทำมาจากใจ
จะยกตัวอย่างการปฏิบัติอยู่ที่บ้านตามในหนังสือมาให้อ่านกันสักหนึ่งเรื่องค่ะ
ไม่ได้นั่งสมาธิเดินจงกรมแล้วจะไปนิพพานได้หรือไม่
รูปแบบแห่งการปฏิบัติเพื่อดำเนินไปสู่จุดแห่งการหมดจากกรรมนั้น
ไม่จำเป็นต้องอาศัยรูปแบบมากนัก เพราะในสมัยนี้คนเราก็จะยึดติด
ยึดถือกับรูปแบบของผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ต้องสวดมนต์ นั่งสมาธิและเดิน
จงกรม อยู่เป็นกิจประจำทุกวัน เรียกว่าทำเป็นกิจของตน บางคนก็ทำ
ตามหน้าที่ บางคนทำเพราะถูกบังคับ เช่นกลัวว่าหากไม่สวดมนต์แล้ว
เดี๋ยวบารมีจะไม่เต็ม ไม่นั่งสมาธิแล้วจิตจะไม่สงบ นี้คือรูปแบบที่เราได้
เห็นกันชัดเจน และเป็นตัวแบ่งให้ผู้ที่ปฏิบัติตามที่กิจวางไว้สมบูรณ์มีใจ
ที่มุ่งหวังได้
แต่สำหรับท่านที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตรงนี้ให้สมบูรณ์ได้ ก็จะมา
กล่าวโทษตนเองและกดตนเองให้ต่ำลง บางท่านก็อ้างว่าไม่มีเวลา
ที่จะสวดมนต์ ไม่มีเวลาที่จะนั่งสมาธิ ไม่มีเวลาเดินจงกรม เราก็คง
ไปสู่นิพพานไม่ได้ กำลังใจก็พลอยหมดถดถอยลงไป ก็ไปกล่าวโทษว่า
เราคงไม่มีบุญวาสนาที่จะได้ปฏิบัติ เรามีกรรมมากก็เลยทำความดีได้
ลำบาก บางท่านมีสามีภรรยา สามีบางท่านชอบการปฏิบัติสวดมนต์
ไหว้พระ แต่ภรรยาไม่ชอบการปฏิบัติสวดมนต์ไหว้พระ
ก็เลยรู้สึกว่าจะมีการขัดกันในความรู้สึกของผู้ที่จะปฏิบัติ เช่นบางวัน
สามีเอาแต่สวดมนต์ ภรรยาก็เอาแต่ดูละคร ไม่สนใจในการปฏิบัติ
หรือบางท่านอาจจะหนักถึงขนาดทำประชดประชันกัน บางท่านก็ว่า
ถ้าชอบปฏิบัติธรรมนัก ก็ไปบวชเสียเถอะ หรือภรรยาบางท่านสามีก็จะ
พูดในเชิงประชดประชันว่า แล้วเมื่อไหร่แม่ชีจะไปวัด เรียกว่ามีการ
ขัดขวางในการทำความดี บางท่านก็เลยท้อใจว่าตนเองก็หมั่นทำความ
ดีและปฏิบัติตามระเบียบแล้ว แต่ทำไมคนใกล้ตัวถึงกลับมีอคติกับเราด้วย
บางท่านก็เลยเลิกการปฏิบัติ เพราะไม่สามารถที่จะปรับสภาพเข้ากับ
สถานะความเป็นอยู่ปัจจุบัน ดังที่เราจะได้ยินผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
กล่าวว่า โลกกับธรรมนั้น ไม่สามารถที่จะไปด้วยกันได้ เราต้องเลือก
อย่างใดอย่างหนึ่ง หากเราจะไปสู่ธรรม เราต้องละความเป็นโลก เรา
ถึงจะไปในทางธรรมได้ ต้องละจากการเป็นอยู่อย่างโลก ต้องเลิก
การพบปะสังสรรค์ ต้องเลิกการมีครอบครัว ต้องเลิกการดำเนินกิจการ
ฝ่ายของโลกให้หมด เรียกว่าต้องกำจัดบ่วงทางโลกให้หมดเสียก่อน
ต้องสละสิ่งนั่นสิ่งนี้ให้ตนเองเป็นผู้ไม่มีภาระทางโลกแล้ว เราก็จะไป
สู่นิพพานได้ง่าย
ความเข้าใจเช่นนี้ ย่อมมีมาทุกยุคทุกสมัย แม้แต่ในสมัยปัจจุบัน
นี้ก็ตาม เพราะว่าคนเราทั้งหลายไปติดในรูปแบบแห่งกายมากเกินไป
จะทำอะไรก็กลัวศีลจะขาด กลัวจะเป็นบาป กลัวจะไปนิพพานไม่ได้
หากศีลเราไม่ครบ บางคนก็เลยไม่กล้าที่จะเดินตามทางมรรคผลนิพพาน
ได้ เพราะไม่สามารถที่จะรักษาศีลให้ครบอยู่ได้ เมื่อศีลไม่ครบไม่บริสุทธิ์
การไปนิพพานนั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอน นี้คือความหลงผิดและเข้าในฝ่าย
ที่เป็นความเข้าใจตามตำราและการว่ากล่าวสืบทอดต่อๆกันมา
การเข้าใจที่ถูกต้องตามแบบแห่งการเข้าถึงซึ่งหนทางแห่งอริยชน
นั้นดังที่กล่าวมาแล้วว่าต้องสละและละกิเลสเครื่องมัวเมาทั้ง 3 ข้อให้ได้
ซึ่งในคุณธรรม 3 ข้อนั่น ท่านก็ไม่ได้กล่าวว่าเราจะต้องรักษาศีลของเรา
ให้สมบูรณ์บริสุทธิ์ หรือท่านก็ไม่บอกว่าเราต้องนั่งสมาธิทุกวัน เราต้อง
สวดมนต์ทุกวันหรือเราต้องเดินจงกรมให้ครบเป็นประจำทุกวัน เรียกว่า
ท่านก็ไม่ได้กล่าวว่าเราต้องประกอบกิจเหล่านี้ให้ครบสมบูรณ์ถึงจะไปสู่
นิพพานได้
หรือท่านก็ไม่ได้กล่าวว่า หากเธอจะไปสู่อริยชน เบื้องต้นนั้น เธอ
ต้องบวชเป็นพระสงฆ์เป็นภิกษุณี หรือจะต้องมาอยู่วัดถึงจะได้ไป ในการ
ละกิเลสทั้ง 3 ข้อนั้น ท่านกล่าวเพียงให้เราทั้งหลาย ฝึกลดละความยึดติด
ยึดถือในเรื่องของสภาวะจิตเท่านั้น เช่นการไม่ยึดติดในกายของตน
ไม่ลังเลสงสัยในความเป็นอริยชน และไม่ยึดติดในความดีที่เราได้กระทำ
ซึ่งในคุณธรรมทั้ง 3 ข้อจะเห็นได้ชัดว่าท่านเน้นให้เราปฏิบัติที่จิต
ของเรา ไม่ว่าเราจะกระทำสิ่งใดก็ตาม ให้เรามีสติและปัญญาตามดู
ตามรู้ความเป็นไปแห่งอารมณ์ของตนเอง
คนเรานั้นหากสามารถที่จะยับยั้งอารมณ์ของตนได้ กายวาจาก็ไม่มี
ความสำคัญแต่อย่างใด เพราะเหตุว่าเราได้ไปดับต้นก่อให้เกิดกิเลส
ได้แล้ว เมื่อจิตเราหยุดกิเลสและทำลายความยึดติดในใจของเราแล้ว
การปฏิบัติทางกายก็ถือว่าเป็นเรื่องรองลงไป บางท่านเอาแต่นั่งสมาธิ
จิตก็แน่แน่วในอารมณ์แห่งความสงบในขณะที่นั่งสมาธิ มีความสงบ
เยือกเย็น สบายและมีความสุขมาก ๆ แต่พอออกจากนั่งสมาธิแล้วก็กลับ
มาสู่สภาวะเดิม ๆ จากที่ก่อนหน้านี้เป็นคนขี้โมโห ก็ยังคงโมโหเหมือนเดิม
การปฏิบัติเช่นนี้ ถือว่าเป็นเหมือนเอาหินไปทับหญ้าเอาไว้ พอเรายก
หินออกมา เดี๋ยวหญ้าก็กลับมางอกงามเหมือนเดิม พอเวลามีความโกรธ
ความเห็นยึดถือในตัวตนว่าเป็นของเรา ก็จะมานั่งหลับตากำหนดสมาธิ
ถึงจะระงับอารมณ์ได้ คิดดูเถิดหากว่าเราจะเอาแต่นั่งสมาธิเพื่อระงับ
อารมณ์ของตน แล้วจะทันต่อเหตุการ์ณหรือไม่ จึงเห็นได้ว่า การนั่งสมาธิ
ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติแต่ไม่ใช่แนวทางทั้งหมด แนวทางที่จริง
ก็คือรู้ทันจิตของตนเอง ให้เรารู้เท่าทันจิตตนเอง แล้วเราจะควบคุมใจของ
เราได้ เมื่อเราคุมใจเราได้ ร่างกายและวาจาก็ไม่ใช่ปัจจัยหลักสำคัญอีกต่อไป
เหมือนกับเราหิวข้าว อยากรับประทานอาหาร หากเราคิดและมั่นหมาย
เข้าใจแต่ว่าที่ ๆ เราจะรับประทานอาหารได้ ก็คือที่โรงครัวของบ้านเราเท่านั้น
ที่อื่นรับประทานไม่ได้ มันไม่ถูกที่ ประเภทอย่างนี้เราก็คงจะหิวข้าวตายก่อนที่
เราจะกลับมาถึงโรงครัวของบ้าน อาหารอยู่ริมทางมากมาย ส่วนอาหารก็มี
เยอะแยะ เวลาเราหิวแล้วเราก็เลี้ยวรถเข้าไปในร้านอาหารสั่งอาหารมา
รับประทาน เราก็คลายจากทุกข์เวทนา คือคลายจากความทุกข์ที่เป็นความหิว
เราก็รู้สึกอิ่มและมีกำลังวังชาในการที่จะประกอบการงานต่อไปได้
แต่หากว่าเราคิดและเจาะจงแต่ว่า เราจะปฏิบัติธรรมได้เราต้องนั่งสมาธิ
สมาทานศีล นุ่งขาวห่มขาวเท่านั้นจึงจะปฏิบัติธรรมได้ ถึงจะไปนิพพานได้
คิดดูเถิดว่เราจะทันต่อกิเลสที่มันเกิดขึ้นมาหรือไม่ จึงสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่
เราต้องมาปฏิบัติที่ใจของตน เมื่อมีสิ่งใดมากระทบกับจิตใจของเรา เราเองต้อง
รู้ให้ทันกับอารมณ์ของตนเอง และให้ละอารมณ์เหล่านั้นออกไป อารมณ์ทั้ง
ที่ดีและไม่ดี เขาย่อมวางไว้ในส่วนของเขานั่นเอง โดยที่จิตไม่ไปยึดเอา
เรียกว่า เมื่อกิเลสหรืออารมณ์เกิดขึ้นคราวใดนั้นแหละคือหน้าที่ของผู้
ปฏิบัติ จะต้องดำเนินการเฝ้าดูอารมณ์ คราวนี้อารมณ์เหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นได้
โดยไม่เลือกสถานที่วันเวลา ทำอย่างไรเราถึงจะไปตามให้ทันอารมณ์นั้น ๆ
เมื่อเขามาแบบไม่มีเวลาและสถานที่ เราเองก็ต้องเตรียมพร้อมโดยไม่เกี่ยง
สถานที่ วันเวลา เรียกว่าเกิดตรงไหนก็ดับตรงนั้น ยึดตรงไหนก็วางตรงนั้น
โดยไม่ต้องรอให้เราเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ต้องรอให้เรานั่งสมาธิกำหนดเสีย
ก่อน หากเรามัวแต่เตรียมตัวแต่งตัวนานเกินไป กิเลสอารมณ์ย่อมกินเราไป
เรียบร้อยแล้ว
ยังไม่จบนะคะแล้วเรามาต่อกันตอนที่2 ในคราวหน้าจ้ะ