9/17/10

นิพพานนอกวัด(ตอน2)

ที่มาหนังสือ: นิพพานนอกวัด/ผู้แต่ง:พระอาจารย์วิเชียร วชิรปัญโญ
Tyrol,_Austria_-_Misty_Mountain_Village ต่อจากตอนที่แล้วค่ะ
              หากเรามีสติกำหนดรู้ทุกขณะแห่งความคิดหรือจิตเรา และมี
สติสัมปชัญญะรู้ตัวเองตื่นตัวเองอยู่เสมอ เรานั้นย่อมรู้เท่าทันอย่างไม่
ต้องอาศัย ปัจจัยมาจากภายนอกเพียงเราตื่นตัวรู้เองอยู่ตลอด นั้นแหละ
คือการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง เพียงแต่ว่าเมื่อเรารู้แล้วว่าเราเกิดอารมณื
ทั้งดีและไม่ดีขึ้นมา เรากล้าที่จะปล่อยวางกับอารมณ์เหล่านั้นขนาดไหน
เพราะบางคนก็รู้ทั้งรู้ว่าอารมณ์ไม่ดี อารมณ์กำลังขุ่นมัว ก็อดไม่ได้ทนไม่ไหว
ก็เกิดการทะเลาะโต้เถียงกันไป
     เมื่อเรารู้แล้วว่า อารมณ์นั้นไม่ดีทั้ง 2ฝ่าย เราก็ควรเพียงรู้และเห็นโทษ
ของอารมณ์ทั้งคู่ ว่าเป็นอย่างไรเมื่อเราไหลไปตามอารมณ์นั้น สุดท้าย
เราเองก็ต้องทุกข์เมื่อเรารู้แล้วว่า หากเราปล่อยจิตให้ตามอารมณ์นั้นไป
ผลสุดท้ายที่เราจะได้รับก็คือความทุกข์ อารมณ์ดีเกิดขึ้น ก็อยากให้อารมณ์
นั้นอยู่กับเรานาน ๆ พยายามรักษาอารมณ์แห่งความสุขและพอใจนั้นให้อยู่
กับตนเองให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ แต่สุดท้ายก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป
จากอารมณ์ดี เปลี่ยนมาเป็นอารมณ์ไม่ดี เพราะต้องหลุดจากจิตที่มีอารมณ์ดี
ครอบงำ มาเป็นจิตที่อารมณ์ไม่ดีมาครอบงำไว้แทน
     การนั่งสมาธิก็เป็นเพียงการฝึกให้เรามีสติเท่านั้น แต่ไม่สามารถที่จะฝึกให้เรา
เราเจริญด้วยปัญญาได้ อย่างที่กล่าวไว้ว่า ก็รู้ทั้งรู้ว่าไม่ดี รู้ตื่นตัวอยู่เสมอว่า
สิ่งนั้นมันไม่ดี แต่ก็อยากจะทำในสิ่งนั้น ก็เลยกระทำสิ่งนั้นลงไป เพราะขาดปัญญา
มาคอยยับยั้งหาเหตุและผล ให้เราละและวางอารมณ์นั้นให้ได้ ดังนั้นคราวใดที่ใจ
เราถูกกระทบจากสภาพอารมณ์ภายนอก หน้าที่ของเราก็คือตามดูตามรู้ กำหนด
รู้ให้เห็นว่าอารมณ์เราเป็นเช่นไร เมื่อเรารู้ว่าเป็นเช่นไรแล้วเราก็วางสิ่งนั้นเสีย
เราก็หลุดพ้นไปได้โดยอัตโนมัติ
     จึงได้เห็นว่า ถึงแม้เราจะไม่มีเวลามานั่งสมาธิเดินจงกรม หรือเข้าวัดฟังเทศน์ก็
ตาม แต่เราก็สามารถที่จะสร้างพระนิพพานให้เกิดกับตัวเราได้ โดยที่ไม่ต้องมีรูป
แบบที่ลำบากอย่างนั้น ขอเพียงให้เรามีจิตที่รู้ว่าในขณะที่กายเราถูกกระทบ
แล้วจิตรู้สึกเช่นไร แล้วก็นำปัญญามาแก้ไขและวางอารมณ์นั้นให้ได้เร็วที่สุด
ไม่ว่าอารมณ์ดีหรือไม่ก็ตาม เมื่อเรารู้แล้วต้องวางอารมณ์ให้เขาอยู่ในส่วนของเขาไป
ไม่ต้องนำอารมณ์นั้นมาเข้าฝังในจิตของเรา ปล่อยจิตของเราให้อยู่อย่างเอกเทศ
โดยมีความนิ่งและว่างอย่างเดียว อารมณ์ความสุขเกิดขึ้นรู้อยู่แต่ไม่ไปตาม
อารมณ์ทุกข์เกิดขึ้นรู้อยู่แล้วก็หาวิธีแก้ไขคลายความทุกนั้นให้ได้ไป แล้วก็วาง
ให้เขาอยู่อย่างอิสระ
     การกระทำเช่นนี้ กล่าวแล้วรู้สึกว่าง่าย แต่เวลาลงมือทำรู้สึกว่ายากการที่จะปล่อย
และละอารมณ์ในแต่ละอย่างไม่ใช่ของง่าย อารมณ์แห่งความทุกข์ก็พอหาทางออก
ให้ได้ แต่อารมณ์แห่งความสุข ที่ไม่ต้องให้เก็บไว้นี้น่าจะวางยากอยู่ไม่น้อย แต่ให้
เราทั้งหลายพึงรู้ได้เลยว่า ตราบใดที่จิตของเรายังมีความรู้สึกว่ามีความสุขในอารมณ์
อยู่ แล้วต้อไปเราก็ต้องมีทุกข์ในอารมณ์เช่นเดียวกัน เรียกว่า สุขอยู่ที่ไหน ทุกข์ก็
อยู่ที่นั้นตามกันมาเหมือนกับเงาตามตัว เหมือนกับหน้ามือและหลังมือ ก็มาจากมือ
ข้างเดียวนี้เอง หากเราคว่ำมือหลังมือก็เกิดขึ้น แต่ถ้าเราหงายมือขึ้น ฝ่ามือก็ปรากฏ
อยู่อย่างนั้น ทำให้เราเห็นว่าเราควรที่จะวางใจของเราให้พ้นไปเสียจากสิ่งทั้งสองนี้
1192388720 จบแล้วค่ะ จริง ๆแล้วหนังสือเล่มนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าอ่านนะคะ
ถ้ามีโอกาสลองไปหาอ่านกันดูค่ะ
ช่วงนี้อาจจะอัพบล็อคช้าไปนิดเนื่องจากอิทธิฤทธิ์เจ้าตัวน้อยในท้อง
ทำให้ไม่ค่อยมีแรงเลย แต่สัญญาจะมาเขียนสม่ำเสมอแน่นอนค่ะ