3/19/19

ศิลปะการว่างงาน อยู่เฉยแบบมีสาระ

   

การอยู่เฉยๆ ทำตัวนิ่ง แบบคนว่างงานนั้น มีประโยชน์อยู่มากมายอะไรบ้าง
มาดูกันเลย    
                        ได้คุณภาพของงานที่ดีขึ้น
เมื่อเราทุ่มเทให้กับงานที่อยู่ตรงหน้าเป็น เวลานานๆรู้ไหมว่า ยิ่งทำให้คุณภาพของงานลดลง
เสียอีก ประสิทธิภาพการแก้ปัญหา ด้อยลง เกิดจากการที่สมองล้านั่นเอง เพราะฉะนั้นการเบรค
จะทำให้เกิดสมาธิ และแก้ปัญหาได้ดีขึ้น 

                        กลับมามีสมาธิมากขึ้น
การถูกรบกวนหรือขึ้นจังหวะจากโซเชียลมีเดียที่เด้งขึ้นมาแทบจะตลอดเวลานั้น ทำให้เราหลุดโฟกัส
กันง่ายๆ แถมยังทำให้คนเราเกิดสมาธิสั้นกันไปอีก วิธีแก้คือเราควรพักเบรคกันสักนิด เพื่อทบทวน
หรือปรับโฟกัสของเรากันเป็นระยะ

                        คิดถึงเป้าหมายที่เคยลืมไป
บางทีการทำงานติดต่อกันนานๆอาจทำให้เราหลงลืมเป้าหมายใหญ่ของเราไปก็เป็นได้ ลองถอยมามอง
อย่างคนว่างๆ ถอยมาดูภาพรวมห่างๆ ว่าเราหลุดโฟกัสไปหรือเปล่า เดินผิดทางมั้ย คราวนี้อาจได้แผน
การดีๆ สำหรับเป้าหมายของเราก็เป็นได้

                        แก้ปัญหายากๆได้ดีขึ้น
คิดยังไงก็ไม่มีทางออก หยุดคิด ทำสมองให้ว่างชั่วคราวแล้วออกไปเดินดูผู้คน ต้นไม้ใบหญ้า นั่งร้านกาแฟ เดินวนในร้านหนังสือ รวมถึงเข้าวัดนั่งริมน้ำ ฟังเสียงระฆัง ไม่แน่นะจู่ๆการที่เราปล่อยสมองให้
เป็นอิสระ สมองถูกปลดปล่อยจากการบล็อค สมองอาจทำงานได้ดีขึ่นโดยการปะต่อข้อมูลที่แฝงตัว
อยู่ลึกๆโผล่ขึ้นมาให้เราได้นำไปใช้ได้

4/19/11

การทนต่อความลำบาก


การทนต่อความลำบาก
                
      โดย....สุชีพ   ปุญญานุภาพ
                                
   “บางคนเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาสอนให้อ่อนแอเกียจคร้าน
    แต่เรื่องนี้กลับแสดงให้เห็นว่า  พระพุทธศาสนาสอนให้
    เข้มแข็งอดทนไม่เป็นคนอ่อนแอ
            ถ้าปฏิบัติตามได้จะเกิด
            ประโยชน์อย่างไร?
            มีพระพุทธภาษิตบทหนึ่งแปลเป็นไทยว่า  “ผู้ใดในยามลำบาก  อดทนต่อความลำบากได้ ไม่หลีกเลี่ยงความลำบาก  ผู้นั้นเป็นคนมีปัญญา ย่อมได้รับความสุขอันเกิดแต่การประกอบ  ซึ่งเป็นที่สุดแห่งความลำบาก”  ดังนี้

            ใจความในพระพุทธภาษิตนี้  แบ่งออกเป็น ส่วนเหตุ กับ  ส่วนผล   ข้อที่สอนให้รู้จักอดทนต่อความลำบาก และรู้จักแก้ไขฝ่าฟันความลำบากนั้น  ๆ  ไม่หลีกเลี่ยง  จัดเป็นส่วนเหตุ  ข้อที่แสดงว่าเมื่อทำได้เช่นนั้นแล้ว  ย่อมได้รับความสุขอันเป็นที่สุดแห่งความลำบาก  จัดเป็นส่วนผล
      
            มีคนเป็นอันมาก  อยากประสบผลโดยไม่ใส่ใจประกอบเหตุ  เช่นอยากพ้นความลำบากด้วยการบ่น  หรือนั่งนอนคอยให้ความลำบากนั้น  ๆ  หมดไปเองไม่คิดแก้ไขบ้าง หรือบางคนคิดแก้ไข  แต่พอใจจะแก้ด้วยวิธีที่ง่าย  และสะดวกสบายเช่น บนบานอ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยปัดเป่าให้พ้นความลำบากนั้นเป็นต้นบ้างการไม่คิดแก้ไขเฝ้าแต่บ่นจะให้ความลำบากสิ้นไปเอง หรือการคิดแก้ไข  แต่แก้ไม่ถูกแก่เหตุดังกล่าวมานี้  หาได้สำเร็จประโยชน์ไม่  พระพุทธศาสนาถือเหตุผลเป็นสำคัญเมื่อวางหลักธรรมสำหรับประชุมชนจะฟังทำความเข้าใจ  และปฏิบัติ  จึงสั่งสอนไปในเหตุผลให้บุคคลละทิ้งนิสัยมักง่าย และงมงาย
            ความต้องการให้ความลำบาก หรือสิ่งที่ไม่ประสงค์นั้น ๆ สิ้นไปโดยอยู่เฉย ๆ ไม่แกไข หรือแก้ไขด้วยการอ้อนวอนบ่นว่าเป็นต้น  จัดเข้าในลักษณะงมงายเห็นแก่ง่ายเป็นประมาณ
            ความลำบากนั้น  บางทีถ้ารู้จักแก้ไขก็แก้ได้โดยง่าย  ข้อสำคัญอยู่ที่แก้ให้ถูกเหตุ  คนบางคนไม่เพ่งเล็งเหตุผล  เกรงแต่จะเสียในทางมักง่าย ถ้าต้องการพ้นจากความลำบาก  หรือ ทำความลำบากให้สิ้นไป  ก็ลงมือแก้ไขในทางที่ยากเข้าไว้  เช่นทรมานตน  มีอดอาหาร ย่างตัวเองที่หลุมถ่านเพลิงเป็นต้น ด้วยคิดว่า  เพราะการทำตนให้ลำบากนี้  เทวดาจะประทานพรให้พ้นความลำบากบ้าง  เดชแห่งตบะจะช่วยได้บ้าง  ความสนใจแต่จะแก้ไขในทางที่ยากเข้าไว้โดยไม่พิจารณาแก้ให้ถูกเหตุเช่นนี้ จัดเข้าในลักษณะงมงาย

            ความมักง่าย และงมงายดังกล่าวมานี้  ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้ดำเนินชีวิตในโลก  ทั้งไม่ใช่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา  จึงควรพิจารณาในลำดับต่อไปว่า  หลักธรรมทางพระพุทธศาสนานั้น วางแนวคิดและแนวปฏิบัติไว้อย่างไร

            พระอัสสชิเถระเจ้าเมื่อแสดงธรรมแก่พระสารีบุตร  ได้ประมวลหัวใจของพุทธศาสนามาแสดงโดยย่อว่า  “ธรรมใดเกิดแต่เหตุ  พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมนั้นกับทั้งความดับแห่งธรรมนั้น”   ซึ่งถอดใจความได้ว่า   พระศาสดาตรัสสอนให้รู้จักเหตุและผล  เมื่อเห็นผลแล้วให้รู้จักค้นหาต้นเหตุ  และถ้าจะแก้ไขมิให้เกิดผลหรือให้ผลทวีขึ้น  จะต้องประกอบเหตุให้ถูกทาง  เหมือนแก้เชือกก็ต้องแก้ให้ถูกปม  ถ้าไปหลงแก้ที่อื่น หรือขมวดให้เกิดปมยิ่งขึ้น  ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ฉะนั้น
            ตามหัวข้อที่ยกขึ้นกล่าวในเบื้องต้นนี้  ท่านแสดงเหตุคือความรู้จักอดทนต่อความลำบาก  และรู้จักแก้ไข  ไม่หลีกเลี่ยงความลำบากนั้นว่า  ทำให้ได้รับผลคือความสุขเกิดแต่การประกอบ  อันเป็นที่สุดแห่งความลำบาก

            เฉพาะคำว่า สุข  อันเป็นผลที่พึงได้จากเหตุข้างต้น  ท่านจำกัดความว่าหมายถึงสุขเกิดแต่การประกอบ  ที่เรียกว่า   โยคสุข  ดังนี้  จึงเป็นอันแน่ใจได้อย่างหนึ่งว่า  ความนั้นบุคคลอาจประกอบกระทำให้เกิดมีขึ้นได้ตามต้องการ  ข้อสำคัญ  อยู่ที่การประกอบเหตุสุขให้ถูกเท่นั้น  เมื่อเทียบดูถึงความสุขที่จะเกิดขึ้นนี้แล้ว  ก็จะเห็นว่าต่างกันมาก  ข้อนี้มีทางเทียบให้เห็นโดยอเนกประการ  เช่น  ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักสร้างบ้านเรือน  เครื่องนุ่งห่มขึ้นเลย   คอยแต่จะอาศัยสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมนุษย์ก็ต้องอยู่ตามถ้ำ ตามโคนไม้  และมีใบไม้เป็นเครื่องนุ่งห่ม  ซึ่งในที่สุดถ้ำหรือโคนต้นไม้ก็จะไม่พอให้อาศัย และถึงจะเป็นที่อาศัยได้บ้างก็ไม่สะดวก  หรือผาสุก  เหมือนบ้านเรือนที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ตามความต้องการนั้น  ข้าว  และพืชผลทุกชนิดที่ใช้เป็นเครื่องบริโภค  ถ้ามนุษย์จะรอให้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ   โดยไม่มีการเพาะปลูกเก็บเกี่ยวเลย  ก็คงไม่พอที่จะให้มนุษย์บริโภค  และไม่รู้ว่าจะหาของที่เกิดขึ้นเองเหล่านั้นได้ที่ไหนบ้าง  ความรู้  ความฉลาด ถ้าจะรอให้เกิดเองโดยไม่ต้องเล่าเรียนศึกษา ก็คะเนไม่ถูกว่าเมื่อไรจึงจะบังเอิญเกิดขึ้นเองได้  ทรัพย์สินเงินทองที่ชาวโลกพึงแสวงหาเป็นเครื่องเลี้ยงตน  และครอบครัว  ถ้าบุคคลพากันนั่งนอนคอยให้เกิดเองโดยไม่ต้องทำการงาน  หรือประกอบอาชีพอะไร  ก็ยากจะรู้ได้ว่าเมื่อไหร่จะถึงวันดีคืนดี  ซึ่งทรัพย์นั้นจะบังเอิญเกิดขึ้นเองได้  แต่ในขณะที่นั่งนอนคอยให้สิ่งทั้งหลายที่จำเป็นสำหรับชีวิตเกิดขึ้นเองนั้น ความทุกข์ยากภัยพิบัติก็จะเข้ามาประจำแทนที่จนเหลือที่จะเอาตัวรอดได้แล้ว  เพราะฉะนั้น  การหวังพึ่งสิ่งที่ต้องการซึ่งเกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ  หรือโดยธรรมชาตินั้นจึงไม่ดีแน่  เรื่องความสุขก็เช่นเดียวกัน ท่านจำกัดความว่า  โยคสุข  สุขเกิดแต่การประกอบกระทำ ก็เพื่อให้เป็นที่ตระหนักว่า  เมื่อต้องการสุขก็ต้องประกอบเหตุให้ถูก  จะมัวรอให้เกิดเองโดยธรรมชาติ  ก็น่าจะต้องรอเปล่าโดยแท้  ยิ่งในทางธรรมปฏิบัติ  ตามปกติภูมิแห่งจิตใจของคนต่ำอยู่แล้วเพราะเครื่องเหนี่ยวรั้งชักจูงในทางต่ำมีอยู่มาก  ถ้าไม่อบรมจิตใจให้นิยมในความดีให้สูงขึ้นจากพื้นเดิมบ้างเลย  ก็จะเปรียบเหมือนคนจมอยู่ในหลุมโสโครก  ไม่พยุงตนหรือตะเกียกตะกายขึ้นจากหลุมนั้น  มัวรอให้เหตุบังเอิญดลบันดาลให้ขึ้นไปได้เองก็คงรอเปล่า  และต้องจมอยู่อย่างนั้นตลอดไป

            เมื่อได้พิจารณาถึงผล คือความสุขชนิดที่บุคคลอาจควบคุมทำให้เกิดมีขึ้นได้เองฉะนี้แล้ว ก็ควรย้อนไปพิจารณาถึงเหตุที่พึงประกอบต่อไป

            ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า  ท่านที่อดทนต่อความยากลำบาก  ในยามลำบากและความรู้จักแก้ไข ไม่หลีกเลี่ยงความลำบากเป็นธรรมะส่วนเหตุที่เกิดสุขเช่นนั้น
            ข้อที่ท่านสอนให้รู้จักอดทนต่อความลำบากในยามลำบากนี้  ก็ด้วยมุ่งหมายที่จะให้บุคคลเป็นผู้มีน้ำใจเข้มแข็ง  ในการเผชิญความทุกข์ยากลำบากในโลกทั้งนี้เพราะความทุกข์ยากลำบาก และอุปสรรคทั้งหลายเป็นของประจำโลก  ซึ่งผู้เกิดมาทุกคนจะต้องประสบ  แม้ใคร ๆ จะไม่ชอบความทุกข์ยากลำบาก  ความไม่ชอบนั้นจะช่วยให้ความทุกข์ยากลำบาก เกรงกลัวหลบหนีไปก็หาไม่  ทั้งนี้เพราะความทุกข์ยากลำบากนั้น  ย่อมเกิดขึ้นจากเหตุหลายประการ  บางอย่างเกิดขึ้นตามเหตุการณ์ของโลก เช่นทุพภิกขภัย  อุทกภัย  วาตภัย และภัยสงคราม บางอย่างเกิดเพราะการกระทำของตนเอง  เช่นบุคคลบางคนผู้ต้องได้รับโทษเพราะความผิด  บางอย่างเกิดจากการไม่ทำ  เช่นบุคคลบางคนผู้ต้องได้รับความลำบางเพราะเกียจคร้านไม่ทำการงานเลี้ยงชีวิต  บางอย่างเกิดเนื่องจากความเกิดของคน  เช่นโรคภัยไข้เจ็บความแก่เฒ่าทุพพลภาพพิกลพิการ  ความลำบากทุกข์ยากดังกล่าวมานี้  จะเห็นได้ทั่วไป  ทั้งที่บุคคลอื่น และตัวเราเอง  ถ้าบุคคลไม่มีใจเข้มแข็งอดทนก็จะรู้สึกอึดอัดมองดูสิ่งแวดล้อมเต็มไปด้วยความทุกข์ร้อนมีใจห่อเหี่ยวเศร้าสลดไม่เป็นอันประกอบการงาน  ถ้าทนไม่ไหวก็ถึงกับบ่นคร่ำครวญถ้ายิ่งไปกว่านั้นก็จะถึงกับไม่อยากมีชีวิตอยู่เป็นอันว่าความลำบากนั้นเกิดขึ้นชั้นหนึ่งแล้ว  บุคคลยังเที่ยวเก็บมาประมวลสุมไว้ในใจและระทมทุกข์อีกชั้นหนึ่ง  จึงกลายเป็นความทุกข์ยากลำบากถึงสองชั้น  ทางพระพุทธศาสนาสอนให้บุคคลมีความอดทนต่อความลำบากนั้น  ๆ โดยใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผล  เพราะถ้าไม่พิจารณา สักแต่ว่าทนไม่เฉย ๆ ก็ดูไม่มีความหมายอะไร  และทนไม่ได้จริงจัง  สัตว์ต่างๆ เมื่อประสบความทุกข์ยาก  แม้จะไม่สามารถเยี่ยงมนุษย์ก็พยายามตะเกียกตะกายช่วยตัวเอง  เมื่อช่วยตัวเองไม่ได้ก็ต้องทนไปอย่างไม่รู้ว่าจะใช้ปัญญาสอนตนอย่างไร  เพราะมีความเจริญทางจิตใจน้อยกว่ามนุษย์ฉะนั้น  มนุษย์จึงควรอดทนโดยใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล  เพื่อจะได้รู้จักอดทนอย่างมีความหมาย  ในขณะเดียวกัน  ก็จะได้ค้นหาต้นเหตุของความลำบากนั้น ๆ แล้วคิดแก้ไขต่อไปด้วย
            ถ้าบุคคลหัดอบรมใจให้มีความเข้มแข็งอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากด้วยใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลแล้ว  ก็จะรู้จักพึ่งตัวเอง  ไม่เป็นคนอ่อนแอคอยแต่จะเหลียวหาผู้ช่วยเหลืออยู่รอบด้าน  เมื่อรู้จักพึ่งตัวเองก็จะรู้จักค้นหาต้นเหตุแห่งความลำบาก แล้วแก้ไขให้ถูกทาง  เช่นถ้าประสบความลำบากเพราะไม่ทำมาหาเลี้ยงชีพ  ก็จะได้คิดอ่านแก้ไข  ด้วยการลงมือทำการงานอาชีพอย่างจริงจัง  ถ้าประสบความลำบากเพราะประพฤติชั่ว  ก็จะได้คิดกลับตัวทำความดีต่อไปใหม่  ถ้าประสบความลำบากเพราะขาดแคลน หรือภัยต่าง ๆ ก็จะได้รู้จักประหยัด และคิดทำขึ้นเอง  หรือแก้ไขด้วยอุบายอย่างอื่นเป็นต้น  ก็จะได้ชื่อว่ารู้จักอดทนอย่างมีเหตุผล และหาทางแก้ไขไปในตัวด้วย

            ข้อที่ว่า  “ไม่หลีกเลี่ยงความลำบาก”  มิได้หมายความว่า  ให้ยอมจมอยู่ในความลำบากนั้นโดยไม่คิดแก้ไข  แท้จริงความลำบากบางอย่างต้องแก้ด้วยความลำบากก็มีอย่างที่เรียกหนามยอกต้องใช้หนามบ่ง  เช่นการเล่าเรียนศึกษา ผู้เล่าเรียนจะต้องทนความลำบากเพื่อจะกันและแก้ความลำบาก  อันเกิดจากความโง่เขลา  เป็นเหตุกดตัวเองให้ตกต่ำในการดำรงชีวิต  อนึ่ง  การที่จะแก้ความลำบากเพราะยากจนข้นแค้นเล่าก็จะต้องแก้ด้วยความหมั่นขยันทำการงาน   อันเป็นความลำบากเหมือนกัน  ยิ่งในการประพฤติธรรม ก็จะต้องทนลำบากในการฝึกหัดอบรมกาย วาจา  ใจ  ให้ห่างไกลจากความประพฤติชั่ว   และอาสวกิเลสอันเป็นต้นเหตุแห่งความยากลำบากอย่างใหญ่หลวง  แต่ความลำบากที่ต้องทนไปก่อนเพื่อให้พ้นความลำบาก  และประสบสุขภายหลังนี้  ย่อมเปรียบเหมือนยาขมซึ่งใช้บำบัดโรค  และทำความผาสุกให้เกิดขึ้นแก่ผู้มีโรคที่ทนขมในเวลากินได้   สาธุชนจึงไม่ควรเลี่ยงหนีความลำบากซึ่งจำเป็นต้องอดทนเพื่อใช้แก้ความลำบาก  เหมือนไม่กลัวยาขมซึ่งต้องกินเพื่อแก้โรคฉะนั้นผู้ที่เลี่ยงหนีความลำบากในการเล่าเรียนศึกษา  การประกอบอาชีพ  หรือการประพฤติธรรมนั้น  มีแต่จะตกต่ำเสื่อมทราม หาความเจริญมิได้  ชื่อว่าทอดตนให้ต้องจมอยู่ในความทุกข์ยากลำบาก  อันจะเกิดแต่ความยากจน  และความชั่วเป็นต้น ตลอดไป  แต่ถ้าผู้ใดอดทนต่อความลำบากที่เกิดขึ้นเพราะเหตุต่างๆ แล้วคิดแก้ไขแม้จะต้องใช้ความลำบากแก้ความลำบากบ้าง ก็ไม่เลี่ยงหนีเช่นนี้  ย่อมจะได้รับความสุขเกิดแต่การประกอบ  ซึ่งเป็นที่สุดแห่งความลำบาก ชื่อว่าทำชีวิตของตนให้มีประโยชน์  ไม่เป็นคนมักง่าย  และงมงาย  สามารถใช้พิจารณาเหตุผลแล้วช่วยเหลือตนเองให้พ้นความลำบากนั้นๆได้ ตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา  จัดเป็นกัลยาณชนผู้ควรเป็นเนติแบบแผนที่ท่านทั้งหลายจะพึงเจริญรอยตาม  เพื่อให้ได้รับความสุขสวัสดีสิ้นกาลนาน


จากหนังสือ      อริยธรรม ๑๐
                        กลุ่มศรัทธาธรรม (เชียงใหม่)
พิมพ์                สุวิภา  กลิ่นสุวรรณ์
จาก www.kanlayanatam.com มีหนังสือธรรมมะให้อ่านเยอะเลยค่ะ

1/13/11

เทคนิคการสร้างพลังภายในเพื่อความสำเร็จ



ณรงค์วิทย์ แสนทอง
วิทยากร ที่ปรึกษาและนักเขียนอิสระ
www.peoplevalue.co.th
คนเราเกิดมาพร้อมกับความฝัน เช่น ฝันอยากเป็นโน่น อยากทำนั่น อยากได้นี่ อยากอยู่ที่นี่ อยากไปที่นั่น และมีคนจำนวนไม่น้อยที่แปลงความฝันเป็นเป้าหมายที่จับต้องได้ เช่น อยากเป็นผู้จัดการภายใน 5 ปี อยากเก็บเงินให้ได้หนึ่งแสนบาทภายในสองปี อยากเรียนต่อปริญญาโทหลังจากทำงานแล้วสองปี อยาก......ฯลฯ
 
แต่…ความฝันมักจะกลายเป็นฝันค้าง ฝันสลาย เป้าหมายก็จะกลายเป็น เป้านิ่ง เป้าหนัก หรือบางครั้งก็กลายเป็นเป้าเน่าไปเลยเพราะเก็บไว้นานเกินไปเป้าหมายในชีวิตนั้นหมดอายุ เช่น ฝันอยากเป็นดาราตั้งแต่หน้าตายังเอาะๆตอนนี้หน้าเหี่ยวแล้วก็ยังไม่ได้เป็นเลย ฝันอยากจะเรียนต่อจนต่อนี้ลูกเรียนจบไปแล้วตัวเองยังไม่ทำอะไรเลย
 
สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเดินไปไม่ถึงฝัน เดินไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง       ก็เพราะ “ขาดพลังภายใน(หมายถึงแรงจูงใจ แรงฮึด ความมุ่งมั่น ความปรารถนา)” คือไม่มีแรงจูงใจมากพอ บางคนมีแรงจูงใจแต่ไม่ต่อเนื่อง บางคนมีแรงจูงใจแต่มีน้อยกว่าปัญหาอุปสรรคเลยทำให้ท้อแท้ และพลังภายในมีข้อเสียตรงที่ไปซื้อหาที่ไหนไม่ได้ต้องสร้างขึ้นมาเองจากข้างใน ไปหยิบยืมใครมาก็ไม่ได้ ที่สำคัญพลังภายในหมดไวเพราะรั่วไหลได้ง่าย โดยเฉพาะเวลาชีวิตเราท้อ พลังภายในแทบจะหมดเกลี้ยง สังเกตได้จากช่วงจังหวะที่ชีวิตที่เราย่ำแย่ เราจะรู้สึกเหนื่อยมากและเหนื่อยเร็วกว่าปกติทั้งๆที่เราไม่ได้ออกแรงทำอะไรเลย
 
ดังนั้น จึงอยากจะแนะนำตัวอย่างแนวทางการสร้างพลังภายในให้กับตัวเอง เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนชีวิตของเราไปสู่ความฝันที่เป็นจริง ไปสู่จุดหมายปลายทางแห่งความสำเร็จที่เรากำหนดไว้ เช่น
 
สร้างพลังภายในจากความกลัว
บางครั้งเราจำเป็นต้องหลอกตัวเองให้รู้สึกกลัวอนาคตบ้าง ถ้าเรารู้สึกกลัวว่าอนาคตเราจะสูญเสียบางสิ่งบางอย่างในชีวิตไป จะช่วยให้เรามีพลังภายในเพื่อป้องกันการสูญเสียในปัจจุบันได้ เหมือนกับคนที่ถูกหมอดูทำนายทายทักว่าจะมีเคราะห์ทั้งๆที่จะจริงหรือไม่ก็ไม่มีใครรู้ คนๆนั้นก็มักจะเกิดความกังวลหรือกลัว บอกให้ทำอะไรเพื่อป้องกันหรือลดเคราะห์กรรมที่จะมาถึง ก็ทำตามได้โดยไม่มีข้ออ้างใดๆทั้งๆที่เรื่องบางเรื่องต้องลงทุนต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ทำไมทำได้ ก็เพราะ...ความกลัวเปลี่ยนเป็นพลังภายในนั่นเอง
 
ลองถามตัวเราเองดูว่าในชีวิตที่ผ่านมาเราเคยรู้สึกมีพลังภายในเพราะความกลัวบ้างหรือไม่ถ้าเคยก็ลองนึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นดูว่าเกิดอะไรขึ้น พลังภายในเราเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เช่น บางคนที่ต้องสูญเสียคนที่รักหรือเสาหลักของครอบครัวไป ไม่มีใครให้เป็นที่พึ่งมีภาระที่ต้องดูแลคนรอบข้างอีกหลายชีวิต ตัวเองคือคนที่อยู่ในสถานะที่ต้องดูแลคนอื่นชีวิตตอนนั้นจึงต้องสู้เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ลองนึกดูว่าพลังภายในตอนนั้นมาจากไหน มาจากภาพของคนที่เราต้องดูแลฝังอยู่ในหัว ประทับอยู่ในใจตลอดเวลาใช่หรือไม่
 
และให้ถามว่าวันนี้เราจะรอให้สูญเสียก่อนแล้วค่อยสร้างพลังภายใน หรือเราจะสร้างพลังภายในจากความกลัวในอนาคตดีกว่าหรือไม่?
 
สร้างพลังภายในจากความอยาก
จริงๆแล้วทุกคนมีความอยากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เราต้องเปลี่ยนความอยากนั้นๆให้เป็นพลังภายใน เหมือนการเปลี่ยนอาหารที่กินให้เป็นพลังงาน สาเหตุที่คนยังไม่สามารถเปลี่ยนความอยากให้เป็นพลังได้ก็เพราะ “อยากหลายเรื่องเกินไป” ทำให้แรงฮึดน้อย มีอาการเบื่อๆอยากๆ ไม่ใช่ความปรารถนาที่แท้จริง รู้สึกอยากเพราะสิ่งกระตุ้นภายนอก ไม่ว่าจากคนรอบข้าง จากการบริโภคสื่อ หรือกระแสสังคม
 
ดังนั้น ถ้าต้องการสร้างพลังภายในจากความอยาก ขอแนะนำให้สะสมความอยากให้มากๆ โดยการเพิ่มระดับของเป้าหมายที่ต้องการ เช่น ถ้าต้องการเก็บเงินเพื่อไว้ใช้ยามจำเป็น เราอาจจะมีแรงฮึดน้อย ก็ให้เปลี่ยนเป้าหมายให้ท้าทายมากขึ้น เช่น เก็บเงินเพื่อซื้อบ้าน เก็บเงินเพื่อท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือเก็บเงินเพื่อส่งลูกเรียนให้จบด๊อกเตอร์ เพราะเป้าหมายที่ท้าทายมักจะมีความหมายต่อความอยาก และระดับความอยากก็จะมีผลโดยตรงต่อพลังภายในที่เกิดขึ้น ถ้าความอยากของเราคนเดียวไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้เราเกิดแรงฮึด ก็อาจจะต้องเอาไปบวกกับความคาดหวังของคนอื่นเข้ามาอีกแรงหนึ่งด้วยโดยการไปสร้างพันธะสัญญากับคนรอบข้างว่าเราจะทำโน่นทำนี่ ทั้งนี้ เพื่อให้คนรอบข้างช่วยเสริมแรงบวกทางใจให้เราอีกทางหนึ่งด้วย
 
สร้างพลังภายในจากความสำเร็จของผู้อื่น
ถ้าเราเป็นไข้หวัดธรรมดาร่างกายเราอาจจะมีภูมิคุ้มกันได้ เป็นก็หายเองได้ แต่ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่เราจำเป็นต้องพึ่งยาจากหมอจึงจะหาย เช่นเดียวกันกับการสร้างพลังภายในให้กับตัวเอง บางครั้งเชื้อเพลิงที่จะนำมาสร้างพลังภายในมีน้อยหรือหมด เราสามารถไปหยิบยืมเอาความสำเร็จของผู้อื่นมาเป็นเชื้อเพลิงทางใจได้ เพราะความสำเร็จของเรามักจะมีพลังต่อจิตใจของเรา โดยเฉพาะความสำเร็จของคนที่ตรงกับเป้าหมายชีวิตของเรามักจะมีพลังมากกว่าความสำเร็จในเรื่องอื่น ยิ่งเราได้มีโอกาสได้เข้าไปใกล้ชิดหรือได้ฟัง ได้เห็น ได้ยินคนที่ประสบความสำเร็จถ่ายทอดมาโดยตรง ยิ่งทำให้เกิดพลังมากกว่าการอ่านหรือฟังจากสื่อต่างๆ เพราะในขณะที่ผู้ที่ประสบความสำเร็จถ่ายทอดแนวคิดหรือประสบการณ์ออกมานั้น เขาได้ส่งพลังภายในของเขาออกมาให้เราสัมผัสได้ด้วยสีหน้า แววตา และท่าทาที่ทรงพลังยิ่งกว่าการอ่านหนังสือเสียอีก
 
ใช้พลังงานภายในให้คุ้มค่าในช่วงเวลาที่ Peak
พลังภายในเราไม่แตกต่างอะไรจากไฟในแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือที่มีเต็มหลังจากชาร์ต เมื่อใช้ไปนานๆแบตลดลงๆจนเหลือน้อยหรือหมดเกลี้ยง สิ่งที่น่าเสียดายคือบางช่วงเรามีพลังภายในเยอะมาก แต่เราไม่ได้ใช้ให้คุ้มค่า ปล่อยให้พลังภายในหมดไปตามกาลเวลา ช่วงเวลาที่เราประสบความสำเร็จในชีวิตบางอย่างเป็นช่วงที่เรามีพลังภายในสูงมาก เราน่าจะนำเอาพลังงานส่วนเกินนั้นไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับชีวิตให้มากที่สุด เช่น เพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งใหม่ๆ เราควรจะรีบลงมือทำโน่นทำนี่ คิดนั่นคิดนี่ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อยากอ่านหนังสือให้รีบอ่าน อยากปรับปรุงตัวเองให้รีบทำ อยากคิดโครงการให้รีบคิดรีบเขียน ช่วงเวลานี้ร่างกายและจิตใจของเรามีความอดทนสูงมาก จะทำงานดึกจะมาทำงานแต่เช้าก็ไม่มีปัญหาอะไรเพราะพลังภายในมากพอที่จะจัดการกับข้ออ้าง จัดการกับปัญหาอุปสรรคทั้งหลายได้
 
ประหยัดการใช้พลังภายในในยามที่ชีวิตมีปัญหา
ถ้ามีเงินไม่มากอย่าพยายามซื้อโน่นซื้อนี่ ขอให้ใช้เงินอย่างประหยัด เพราะถ้าเงินน้อยแล้วใช้ไม่ประหยัดอีกยิ่งทำให้ชีวิตเดินเข้าไปสู่หุบเหวแห่งการเป็นหนี้ได้ง่าย เช่นเดียวกันกับช่วงจังหวะชีวิตที่พลังภายในเราตกต่ำหรือเหลือน้อย อย่าพยายามหาเรื่องที่ต้องบั่นทอนกำลังใจเข้ามาเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเดิมที่คั่งค้างอยู่ในจิตใจหรือเรื่องใหม่ที่ยังมาไม่ถึง เราต้องพยายามรักษาระดับแบตเตอรี่ใจให้ใช้ได้นานที่สุด  หรือไม่ก็ต้องรีบหน้าทางไปชาร์ตแบตใหม่อย่างเร่งด่วน
 
จงเก็บสะสมพลังภายในอย่างต่อเนื่อง
คนเรามักจะมีพลังภายในแบบวูบวาบ เวลามีก็มีเยอะเกินไปจนเหลือใช้ เวลาหมดก็หมดเลย เช่น คนจะเริ่มไปหากำลังใจจากพระ จากหมอดูหมอเดา จากที่ปรึกษา จากหมอ ก็ต่อเมื่อตัวเองมีความทุกข์มากแล้วเท่านั้น คนเราจะไปฝึกนั่งสมาธิ สวดมนต์ก็ต่อเมื่อมีปัญหาชีวิตที่หาทางออกไม่ได้ด้วยตัวเองแล้ว ซึ่งบางครั้งพลังภายในที่เราใช้เวลาสร้างเพียงสั้นๆไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันนั้นไม่ทันกับการใช้งานหรอก ทางที่ดีเราควรจะรู้จักสะสมพลังภายในให้กับตัวเองอย่างต่อเนื่อง เช่น การบริโภคข้อมูลข่าวสารความสำเร็จของผู้อื่น ฝึกจิตใจให้สามารถสร้างพลังภายในด้วยตัวเราเอง แบ่งปันความสำเร็จของตัวเองให้ผู้อื่น เพราะทุกครั้งที่เราแบ่งปัน เราจะได้พลังภายในกลับคืนมาเสมอ ไม่เชื่อลองพูดถึงความสำเร็จของตัวเองให้คนอื่นฟัง ให้สังเกตว่าตอนเรากำลังพูดหรือเพิ่งพูดเสร็จ เรารู้สึกอย่างไร มีไฟในตัวเองเพิ่มมากขึ้นหรือไม่
 
ใช้พลังภายในเผาผลาญข้ออ้างเพื่อเปิดทางเดินให้ชีวิต
ถ้าเราต้องการให้รถยนต์วิ่งได้เร็วขึ้นโดยมีกำลังเครื่องยนต์เท่าเดิมคือต้องลดน้ำหนักการบรรทุกลงโดยการเอาสัมภาระบางอย่างออกจากรถ และรถคันนี้ต้องวิ่งด้วยความเร็วสม่ำเสมอไม่ใช่วิ่งๆหยุดๆโดยการเหยียบคันเร่งสลับกับการเหยียบเบรกไปตลอดทาง
 
ชีวิตคนเราก็เช่นกันถ้าเราต้องการให้ชีวิตเดินไปข้างหน้าได้เร็วอย่างต่อเนื่อง เราต้องกำจัดภาระที่เป็นตัวถ่วงในชีวิตออกจากจิตใจให้ได้ ภาระบรรทุกของรถยนต์ชีวิตคือ ข้ออ้างและความกังวลซึ่งจะทำให้ชีวิตเราสูญเสียพลังงานไปกับการคิดทั้งสองเรื่องนี้
 
เราต้องพยายามสร้างพลังภายในให้เกิดขึ้นในใจให้มากพอที่จะกำจัดข้ออ้างและความกังวลให้หมดไป หรือน้อยลง เพื่อให้ชีวิตของเราเดินไปข้างหน้าได้ดีกว่าและเร็วกว่า
 
          สรุป พลังงานที่ขับเคลื่อนชีวิตของคนเรามีทั้งมาจากสิ่งกระตุ้นภายนอก และการสร้างขึ้นมาจากภายใน บางครั้งเราต้องอาศัยการพ่วงแบตเตอรี่จากรถยนต์ชีวิตคันอื่นในกรณีชีวิตเราแบตหมดเกลี้ยง บางครั้งเราจำเป็นต้องสร้างมาจากภายในของเราเอง โดยใช้ความอยากและความกลัวเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังภายในเพื่อใช้ในชีวิตตัวเองและถ้ามีเหลือก็ควรจะเผื่อแผ่ให้เพื่อนมนุษย์คนอื่นบ้างเช่นกัน พลังภายในแปลกตรงที่เรายิ่งให้คนอื่นเรายิ่งมีพลังภายในเพิ่มขึ้น ลองถามตัวเองดูว่าทุกวันนี้เรามีพลังงานภายในมากพอที่จะทำให้ความสำเร็จในชีวิตเป็นจริงแล้วหรือยัง และพลังภายในของเรามาจากข้างในจริงๆหรือมาจากสิ่งกระตุ้นภายนอก และคำถามสุดท้ายคือ เราจะทำอย่างไรให้มีพลังภายในมากพอและต่อเนื่อง