8/26/10

วิปัสสนากรรมฐาน (สติปัฏฐาน)

วิปัสสนากรรมฐาน (สติปัฏฐาน)
ที่มา: หนังสือ "สมาธิหมุน จิตวิวัฒน์เพื่อความพ้นทุกข์" เรียบเรียงโดย คุณเกียรติศักดิ์ แสงสุวรรณ
บทเริ่มต้นของการฝึกจิต คือสมถกรรมฐาน เป็นการฝึกจิตให้เกิดความสงบ เพื่อให้จิตมีพลังเพิ่มขึ้น พลังจิตที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เราทราบถึง ระดับพลังของจิตว่ามีกี่ระดับ ตลอดจนคุณสมบัติ คุณประโยชน์ของแต่ละระดับพลังนั้น เพื่อสามารถคัดเลือกระดับพลังจิตที่เหมาะสมไปใช้งานตามจุดประสงค์ที่ต้องการได้
การนำระดับพลังจิตที่เหมาะสม ไปใช้ศึกษากระบวนการทำงานของจิต ว่าจิตมีกระบวนการทำงานอย่างไร และเมื่อเข้าใจกระบวนการทำงานของจิตแล้ว นำความเข้าใจที่ได้ไปสร้างวิธีการเพื่อฝึกจิต เพื่อพัฒนาจิตจนสามารถเป็นอิสระหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ คือ วิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานจึงเป็นวิธีการนำพลังจิตที่มีระดับพลังที่เหมาะสม ไปฝึกจิตเพื่อให้จิตพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
อันความทุกข์นั้น เป็นสภาพที่ทนอยู่ด้วยยาก เป็นสภาพที่บีบคั้น ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ตามเหตุปัจจัยที่เข้ามาประกอบ และแม้มันเป็นสิ่งที่ทนอยู่ด้วยยาก แต่จิตเราก็หลุดพ้นออกมาจากมันได้ยากนัก สาเหตุแห่งความทุกข์นั้น เกิดจากจิตไปหลงยึดติดสสารและพลังงาน ตลอดจนความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของทั้งสสารกับพลังงาน ซึ่งมีอยู่ 5 ประการ เรียกว่า ขันธ์ทั้ง 5
ขันธ์ 5
ขันธ์ทั้ง 5 ได้แก่
  • รูป คือ ร่างกายตัวตน
  • เวทนา คือ ความรู้สึก ทุกข์ สุข เฉย
  • สัญญา คือ ความจำได้ ระลึกได้ รู้ความหมายของจิตที่เกิดขึ้น
  • สังขาร คือ ความคิดปรุงแต่ง หรือเจตนาที่มีต่อจิตที่เกิดขึ้น เป็นความคิดที่เป็นกุศล อกุศล หรือ เป็นกลาง
  • วิญญาณ คือ ความรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นคือ รู้รูป รู้เวทนา รู้สัญญา รู้สังขาร และ รู้ความรู้อารมณ์
สาเหตุของทุกข์นั้น ไม่เพียงแต่จิตเข้าไปยึดติดขันธ์ 5 เท่านั้น ขันธ์ 5 เอง ก็มีแรงดึงจิตให้จิตมายึดติดเช่นกัน
สาเหตุที่จิตไปยึดติดขันธ์ 5 ก็เพราะ จิตไม่รู้ถึงกระบวนการที่จิตไปยึดติดขันธ์ ว่ายึดติดไปได้อย่างไร และก็ไม่รู้กลไกการทำงานของจิตเองด้วย การจะออกจากขันธ์ 5 นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้กระบวนการของมัน หากไม่รู้กระบวนการที่เกิดขึ้นกับทั้งเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาประกอบ ก็จะไม่รู้เลยว่าจะออกมาจากขันธ์ได้อย่างไร ซึ่งหากเรารู้กระบวนการของมันเราย่อมจะรู้เท่าทัน ทำให้เรา บริหาร จัดสรร และควบคุมไม่ให้จิตยึดติดกับขันธ์ จนภาวะของความทุกข์เกิดขึ้นแก่เราไม่ได้
ความทุกข์ ที่เกิดขึ้นกับเรานั้น มันปรากฏขึ้นเป็น ภาวะของความนิ่ง ที่จิตเราไปนิ่ง ยึดติดอยู่กับอาการต่างๆ ของขันธ์ 5 คือ
  • นิ่งอยู่กับ ความรู้สึกว่ามีตัวตนของเราอยู่ , นิ่งอยู่กับความรู้สึก เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หนัก เบา
  • นิ่งอยู่กับ ความรู้สึกที่เจ็บปวด
  • นิ่งอยู่กับ ความคิด (จำได้) ถึงเรื่อง อดีต ปรุงแต่งทบทวนเรื่องราวต่างๆ จากอดีต นิ่งอยู่กับ ความนึก (หมายรู้) ถึงเรื่อง อนาคต ปรุงแต่งคำนวณเรื่องราวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
  • นิ่งอยู่กับ ความรู้อารมณ์ เช่น กลัว กล้า เศร้า เหงา ดีใจ เสียใจ รัก ชัง โกรธ เกลียด สยดสยอง มัวเมา ริษยา อิจฉา โลภ
  • นิ่งรู้อยู่กับ ความรู้สึกว่ามีตัวตนอยู่ รู้ว่ารู้สึก รู้ว่าคิด รู้ว่านึก รู้ว่ารู้อารมณ์
เมื่อจิตเข้าไปนิ่งยึดเกาะอยู่กับภาวะของความทุกข์แล้ว ที่ผ่านมาหากเราไม่รู้วิธีการของวิปัสสนาเราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้จิตถอนออกมาจากความนิ่งนั้น เราก็พยายามทำให้ความรู้สึกมันเปลี่ยนไปตามวิธีการเท่าที่เรารู้ เท่าที่เรามีประสบการณ์ เท่าที่จิตเราเคยไปถึง เพื่อให้ความรู้สึกมันเปลี่ยนสภาพไป เป็นสภาพที่ทุกข์น้อยกว่าเดิม หรือจนหมดไป วิธีการที่เรารู้จักและทำกันมา คือ
  • ไปเสพกามคุณทั้ง 5 ให้จิตไปรับอารมณ์ที่เป็นสุขจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส โดยหวังว่าจะให้กามคุณช่วยระบายความทุกข์ให้ แต่การเสพกามก็ไม่ใช่เป็นการระบายทุกข์ แต่เป็นการไปรับอารมณ์ใหม่เข้าไปทับอารมณ์เก่า กลับจะเพิ่มสิ่งที่จิตยึดเกาะเพิ่มขึ้น
  • เข้าไปอยู่ในอารมณ์ของฌาน อันมี ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน การเข้าฌานนั้นสามารถทำให้ทุกข์นั้นดับหายไปจากความรู้สึกได้จริง แต่ก็ดับได้ในขณะที่อยู่ในฌานเท่านั้นเมื่อออกจากฌานมาทุกข์นั้นก็ยังอยู่ไม่หายไปไหน เพราะการเข้าฌานจัดเป็นวิธีการที่หนีทุกข์ และกดข่มทุกข์ด้วยพลังจิต ไม่ยอมรับสภาพปัจจุบันของทุกข์ที่เกิดขึ้น
การเสพกาม การเข้าฌานล้วนเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ผ่านมาแล้วทั้งสิ้น และท่านก็ได้ข้อสรุปว่าไม่สามารถทำให้พ้นจากทุกข์ได้จริง วิธีการที่เราต้องการก็คือ ทำอย่างไรให้เราอยู่กับความทุกข์ที่เกิดขึ้นในสภาพปกติได้ โดยไม่ต้องไปหนีไปไหน ไม่ต้องไปเสพกาม ไปเข้าฌานที่ลึก โดยที่จิตเราก็ไม่เกิดทุกข์ตามความทุกข์ไป วิปัสสนากรรมฐานคือวิธีการที่มีคุณสมบัติดังกล่าว
หากอาการของจิต ที่เกิดขึ้นจากการฝึกจิตด้วยวิธีสมถกรรมฐาน คือ จิตเกิดกำลังของความสงบในระดับต่างๆ ซึ่งเรียกว่า ฌาน ทำให้จิตเกิดความสุขสงบ สำหรับอาการของจิตที่เกิดขึ้นจากการฝึกจิตด้วยวิธีวิปัสสนากรรมฐาน จะเป็นอาการของจิตที่เรียกว่า สติ จะทำให้จิตมีภาวะที่รู้ตัวทั่วพร้อม และ รู้เท่าทันปรากฏการณ์ เป็นการฝึกเพื่อเพิ่มกำลังของสติ
สติปัฏฐาน 4
การฝึกสติ ก็มีฐานที่ใช้ฝึกจิตให้เกิดสติอยู่ 4 ฐานด้วยกันคือ ใช้กายเป็นฐาน เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใช้เวทนาเป็นฐาน เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใช้อาการของจิตเป็นฐาน เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใช้สิ่งที่เกี่ยวข้องกับจิตเป็นฐาน เรียก ธรรมนุปัสสนาสติปัฏฐาน
เมื่อเราฝึกจิตให้เกิดสติตามฐานที่ใช้ฝึก สติที่เกิดขึ้นจะมีอยู่สองอาการ สองความหมาย
ที่เราควรพิจารณาและทำความเข้าใจให้ดี คือ สติสัมปชัญญะ และ สติปัฏฐาน
สติสัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัวทั่วพร้อม เป็นการกำหนดรู้อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามฐานที่ใช้ฝึกสติ คือ
  • พิจารณากาย ก็เกิดความรู้ตัวทั่วพร้อมในอาการของกาย
  • พิจารณาเวทนา กำหนดรู้ในอาการของเวทนา
  • พิจารณาจิต กำหนดรู้ในอาการของจิต 
  • พิจารณาธรรม กำหนดรู้ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจิต สิ่งที่คอยประกอบจิต 
ดังนั้น ลักษณะของสติสัมปชัญญะ คือการกำหนดรู้ ในอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกาย เวทนา จิต ธรรม แต่อาศัยเพียงสติสัมปชัญญะนี้ จิตยังจะไม่พ้นทุกข์ได้ เพราะไปจะติดอยู่กับสภาพรู้ที่เกิดขึ้น กับกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งก็คือ ติดธาตุรู้หรือวิญญาณขันธ์ที่ใจอยู่
การฝึกวิปัสสนากรรมฐานไม่ใช่ฝึกให้เกิดสติสัมปชัญญะ แต่ฝึกเพื่อให้เกิดสติปัฏฐาน โดยอาศัยสติสัมปชัญญะเป็นเครื่องประกอบเพื่อให้เกิดสติปัฏฐาน หากฝึกจิตแล้วจิตยังอยู่กับอาการกำหนดรู้เช่นนี้ยังไม่เรียกว่า เป็นการฝึกวิปัสสนากรรมฐานที่แท้จริง
ลักษณะการฝึกสติที่มีการฝึกกันอยู่ทั่วไป ก็จะเป็นลักษณะกำหนดรู้อาการที่เกิดขึ้น แล้วพยายามกำหนดให้ละ ให้คลาย เป็นอาการของสติที่ผู้ฝึกปฏิบัติมักไปติดกัน แล้วเข้าใจว่า เป็นสติปัฏฐาน ผลที่เกิดขึ้นการจากฝึก สภาพจิตมันก็เปลี่ยนไปเหมือนกัน คือ จากที่มันไปติดสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ มันก็เปลี่ยนมาติดตัวรู้ว่าทุกข์แทน เมื่อทำมากๆ จิตจะเบื่อหน่ายกับสภาพรู้จากการกำหนดรู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนไม่อยากรับรู้อีก กำหนดรู้จนจิตหมดกำลัง เกิดเป็นสภาพดับไปในที่สุด ลักษณะของสภาพที่ดับไปนี้ สัญญาเวทนาจะดับหมด ความรู้ตัวทั่วพร้อมหมดไป จะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร เป็นอะไร อยู่ในช่วงเวลาไหนยุคไหน ช่วงเวลาและเหตุการณ์ก่อนที่จะดับ และหลังดับจะไม่ต่อเนื่องกัน อยู่ๆ ก็ดับหายไปไหนก็ไม่รู้ ดับไปอย่างไรก็ไม่รู้ พอดับเต็มที่แล้ว ธาตุรู้ทำงาน สัญญาเวทนาทำงาน ก็เกิดโผล่ขึ้นมาจากไหนก็ไม่รู้อีก ช่วงเวลาที่ดับไปนั้นเราก็ไม่รู้ว่าดับไปนานเท่าไร เป็นสภาพที่ไม่มีความจำ ไม่มีความรู้สึก เราก็เลยจำสภาพดับไม่ได้ จะจำได้ก็เพียงว่า มันดับมืด และเรียบลื่นไปหมด ไม่มีสันญาณคลื่นพลังใดเลยในสภาพที่ดับนั้น
สภาพที่ดับนี้ก็มีการเข้าใจกันว่า คือ การบรรลุธรรม แท้จริงเป็นสภาพที่จิตต้องการพักผ่อนจากการที่ไม่อยากรับอารมณ์ภายนอก หลบเข้าไปในภาวะจิตที่ลึกที่สุด จัดเป็นลักษณะการเข้าฌานอย่างหนึ่ง คือ ไม่รับอารมณ์ภายนอก หลบหนีจากสภาพปัจจุบัน โดยใช้การดับข่มไว้ สภาพดับนี้เป็นการดับ ของสัญญาเวทนา เรียกว่า สัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นนิโรธสมาบัติ ซึ่งเป็นคนละความหมาย กับนิโรธ ในอริยสัจสี่ นิโรธในอริยสัจสี่ ก็คือ การเจริญสติปัฏฐาน
สติปัฏฐาน คือ ฐานที่เป็นที่ตั้งแห่งสติ เพื่อฝึกจิตให้มีสติรู้เท่าทัน เห็นตามสภาพความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นตามฐานที่ใช้ฝึก ฐานที่ใช้ฝึกก็ได้แก่
  • กาย ให้เกิดความรู้เท่าทันในอาการของกาย
  • เวทนา รู้เท่าทันอาการของเวทนา
  • จิต รู้เท่าทันในอาการของจิต
  • ธรรม รู้เท่าทันในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจิต สิ่งที่คอยประกอบจิต
อันอาการของกาย เวทนา จิต ธรรม ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นหากจะกล่าวโดยสรุปแล้ว ก็คือ อาการของจิตที่เกิดขึ้น กับ เหตุปัจจัยที่ทำให้จิตเกิด การฝึกเจริญสติก็คือ ฝึกจิตให้รู้เท่าทันการเกิดของจิต อาการของจิต กับเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตเกิด
ชื่อและหัวข้อของฐานต่างๆ ของสติปัฏฐานที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น คือ ฐานที่เราสามารถนำไปใช้ฝึกจิตให้เกิดกำลังสติขึ้นมาได้ แต่การที่จะนำไปใช้ฝึกนั้น เราไม่จำเป็นต้องใช้ทุกฐาน
ธรรมนุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการรู้เท่าทันในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจิต และสิ่งที่คอยประกอบจิต อันได้แก่
  • นีวรณบรรพ สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้เกิดสมาธิ คือ นีวรณ์ 5 คือ ความยินดีในกาม ความพยาบาท ความหดหู่เซื่องซึมง่วงนอน ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความลังเลสังสัย
  • ขันธบรรพ ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
  • อายตนบรรพ อายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
  • สัจจบรรพ อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
  • โพชฌงคบรรพ สิ่งที่เป็นเครื่องแห่งการตรัสรู้ 7 ประการ คือ สติ ธัมมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา
ฐานที่สำคัญจริงๆ ที่เราจะใช้ฝึก ก็คือ ธรรมนุปัสสนาสติปัฏฐาน อายตนะบรรพ เหตุที่อายตนะบรรพมีความสำคัญ ก็เพราะ จิตก็ดี ความทุกข์ก็ดี ล้วนอาศัย อายตนะเป็นแดนเกิด
ความเกิด-ดับ
การเจริญสติจึงจำเป็นที่เราต้องฝึกเจริญสติที่อายตนะ เพื่อให้จิตรู้เท่าทันการกระทบผัสสะ การรู้เท่าทันนี้ก็คือให้รู้เท่าทันภาวะของความนิ่งที่จิตไปติดอยู่กับขันธ์ห้า ให้รู้เท่าทันในอาการที่เราเคยเห็นว่าเป็นความนิ่งนั้น แท้จริงแล้วมันเป็นความเคลื่อนไหว ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ สลาย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่เกิดดับต่อเนื่อง แอบแฝง ซ้อน ซ่อนเร้นอยู่ เป็นการเกิดดับที่มีรอบของการเกิดดับเป็นความถี่อยู่ค่าหนึ่ง การที่จิตเรามีสติไม่เท่าทันการเกิดดับที่เกิดขึ้น ก็คือ จิตของเรานั้นมีรอบความถี่ที่ต่ำกว่ารอบความถี่ดังกล่าว หรือกล่าวได้อีกประการหนึ่ง คือ จิตเรามีความสามารถไม่พอที่จะแยกแยะสิ่งที่เกิดดับให้เห็นเป็นการเกิดดับ เราตามความเร็วที่มันเกิดดับไม่ทัน เมื่อจิตเราช้ากว่า และต่ำกว่า สิ่งที่กำลังเกิดดับ เราจึงไม่สามารถเห็นการเกิดดับของมันได้ เราจึงจะเห็นมันเป็นภาวะที่นิ่งแทน
ยกตัวอย่างเช่น ภาพจากจอโทรทัศน์ ที่เราเห็นเป็นภาพที่ต่อเนื่องนั้น จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นภาพที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มันเป็นภาพที่ถูกยิงออกมาจาก ปืนยิงอิเลคตรอนจากหลอดรังสีคาโทดที่อยู่หลังจอภาพ ซึ่งเป็นภาพที่ถูกยิงออกมาด้วยความเร็วและความถี่ที่สูงมาก จอโทรทัศน์ปกติจะมีความถี่ของการสร้างภาพ อยู่ที่ 50 ภาพต่อวินาที โทรทัศน์ที่มีคุณภาพดีก็จะมีความถี่ของการสร้างภาพสูงขึ้นไป เช่น 100 ภาพต่อวินาทีเป็นต้น ยิ่งมีความถี่สูงมากเท่าไร ภาพที่ปรากฏบนจอก็จะนิ่งสมจริงไม่สั่นไหวเท่านั้น แม้ความจริงมันคือภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาทีละภาพเป็นจังหวะ เกิด ดับ เกิด ดับ แต่เราก็จะไม่สามารถเห็นว่ามันเกิดดับ เพราะความสามารถของประสาทตาในการแยกภาพของเรา ต่ำกว่าและช้ากว่าจังหวะการสร้างภาพของมัน เราจึงเห็นภาพจากจอเป็นภาพที่ต่อเนื่อง หากเราต้องการจะให้เห็นมันเป็นภาพที่เกิด ดับ คือ สว่าง มืด สว่าง มืด สลับกันไป เราก็จะต้องปรับจังหวะของการสร้างภาพให้ช้าลง จนตาเราสามารถแยกออกได้ว่ามันเป็นภาพที่เกิด ดับ ต่อเนื่องกันอยู่ หรือไม่เราก็พัฒนาประสาทตาของเราให้มีคุณภาพสูงขึ้นจนสามารถมองเห็นการเกิดดับที่เกิดขึ้นได้ หรือไม่ก็ใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน
ในกรณีแสงสว่างที่เกิดขึ้นจากหลอดไฟนีออนก็เช่นกัน แสงสว่างที่เราเห็นเป็นความสว่างที่นิ่งต่อเนื่องนั้น จริงๆ แล้ว มันก็ไม่ได้เป็นความสว่างที่นิ่งต่อเนื่อง แต่มันเป็นแสงสว่างที่เกิดดับด้วยความเร็วที่สูงมาก อันเกิดจากไฟฟ้ากระแสสลับ แต่เราก็จะไม่เห็นว่ามันเกิดดับเพราะประสาทตาเราแยกไม่ทัน เราจะไปเห็นว่าแสงไฟมันเกิดดับก็ตอนที่หลอดไฟเริ่มเสื่อมคุณภาพคือมันจะมีรอบความถี่เกิดดับช้าลงจนประสาทตาเราจับมันได้ว่าแสงไฟจากหลอดกระพริบถี่ๆ แสงมีความสั่นไหว ตั้งแต่สั่นไหวเล็กน้อย จนสั่นไหวมากคือเห็นเป็นการเกิดดับ เกิดดับ แสงไฟที่ออกมาก็จะไม่ต่อเนื่องอีกต่อไป เราก็จะต้องเปลี่ยนหลอดใหม่
ในเรื่องความเร็วของสติกับผัสสะที่เกิดขึ้นตามอายตนะของเรานั้นมันเป็นเรื่องของความเร็วสัมพัทธ์ คือ เหมือนกับตอนนี้เราขับรถด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีรถอีกคันหนึ่งกำลังขับด้วยความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอยู่ข้างหน้าเรา เราก็จะเห็นรถคันข้างหน้าวิ่งนำหน้าไปด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเราไม่ต้องการให้รถคันหน้าหนีห่างจากเราไปอีกเรื่อยๆ เราก็จะต้องขับด้วยความเร็วอย่างน้อย 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเช่นกัน เราก็จะเห็นรถคันหน้าวิ่งไปด้วยความเร็วที่เทียบกับรถเรา เป็น 0 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือ ไม่เห็นเขาเคลื่อนห่างจากเราไป หากเราฝึกจิตจนสติมีความเร็ว เหมือนกับเราเห็นรถที่อยู่ข้างหน้าเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วเท่ากับ 0 เมื่อเทียบกับความเร็วของรถเรา ก็แสดงว่า ความเร็วของจิตเราเริ่มเท่าทันผัสสะที่ เกิด ดับ ขึ้นที่อายตนะแล้ว แต่การฝึกสติไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเท่านี้ การฝึกจิตนั้นเราจะต้องเพิ่มความเร็วของสติให้เหมือนกับการเพิ่มความเร็วของรถให้เร็วมากกว่า 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สมมุติว่าเราเพิ่มความเร็วเป็น 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เราก็จะเห็นรถของเขา วิ่งช้ากว่าเรา 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและเราก็จะเข้าใกล้รถเขาไปเรื่อยๆ จนรถของเรากับของเขาวิ่งมาอยู่ในระดับที่เสมอกัน ในขณะที่อยู่ในระดับเดียวกัน เรากับเขาต่างจะเห็นกันวิ่งด้วยความเร็ว 0 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อถึงจุดนี้เปรียบเหมือน จิตเรารู้เท่าทันปรากฏการณ์จริงๆ เกิดอะไรขึ้นก็เห็นปฏิกิริยาขั้นตอนของมันหมด เป็นภาวะที่จิตเรามีกำลังสติเต็มที่ เรียกว่า มีสติเต็มรอบ ซึ่งด้วยกำลังที่เต็มที่เช่นนี้ จิตเราก็พร้อมที่จะเร็วกว่าการเกิดดับของผัสสะ เหมือนกับรถที่พร้อมที่จะวิ่งแซงนำขึ้นไป หากเมื่อใดที่รถเราเริ่มแซงขึ้นหน้านำไป ก็เหมือนกับจิตเราจะอยู่เหนือปรากฏการณ์ของผัสสะ ที่ เกิด ดับ ขึ้นทันที แต่ในขณะที่รถของเรากำลังวิ่งไปนั้นสิ่งที่คอยจะทำให้รถเราวิ่งช้าลงก็มีอยู่ เช่น น้ำหนักรถ น้ำหนักของสัมภาระ ความขรุขระของถนน ลมที่พัดมาปะทะรถ ซึ่งจะคอยเป็นแรงเสียดทานให้ความเร็วรถของเราลดลง หากกำลังของรถเอาชนะมันไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ก็เปรียบเหมือน อนุสัยกิเลส ที่คอยจะดึงจิตเราไว้ ไม่ให้จิตเรารู้เท่าทันหรือเหนือกว่าการเกิดดับของผัสสะ ซึ่งเราก็จะต้องชนะมันด้วยกำลังสติที่เหนือกว่า และต้องคอยลดถอนกำลังของพวกอนุสัยนี้ลง
ดังนั้นการฝึกเจริญสติที่อายตนะ ก็ฝึกเพื่อให้จิตมี ความถี่ มีความเร็ว ที่เท่าทัน ความถี่และความเร็วตามธรรมชาติของการเกิด ดับ ของผัสสะที่เกิดขึ้นตามอายตนะ เมื่อเท่าทันแล้ว ก็จะเห็นผัสสะที่เกิดขึ้นเป็น การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ สลาย เกิด ดับ สลับต่อเนื่องกันไป ไม่เห็นเป็นตัวตนที่ถาวร ไม่เห็นเป็นภาวะที่นิ่งอีก เมื่อเห็นเช่นนี้แล้วจิตก็จะไม่หลงเข้าไปยึดเกาะพลังงานที่เกิดขึ้น จะปล่อยพลังงานที่เกิดขึ้นสลายตัวไปตามธรรมชาติ อนุสัยที่จะคอยมาดึงและปรุงแต่งพลังงานให้เป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็จะมาดึงไม่ทัน เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกข์ก็จะเกิดไม่ได้ ทุกข์จะดับไปตามสติที่เรารู้เท่าทัน การเจริญสตินี้จะเป็นการดับทุกข์ในเวลาปัจจุบัน เป็นปัจจุบันขณะ ไม่ได้หลบเข้าไปในอารมณ์ของฌานที่ลึก หรือหลบเข้าไปในภาวะจิตที่ดับสัญญาเวทนา อันเป็นภาวะจิตที่อยู่ลึก จิตดับไปไม่รับรู้สิ่งใด การเจริญสติจึงเป็นการดับทุกข์ที่เหตุของมัน เมื่อดับเหตุได้ผลมันก็ดับตาม ดับเหตุไปเรื่อยๆ เกิดเหตุตรงไหน ที่ตา ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เกิดตรงไหนเราก็ดับตรงนั้น เหตุดับ ผลดับไปเรื่อยๆ การดับทุกข์ด้วยการเจริญสติเช่นนี้ ก็คือ นิโรธ เป็นความดับทุกข์ในความหมายของอริยสัจสี่ เพราะมันจะนำไปสู่มรรค
ไตรลักษณ์ 3 อริยสัจ 4 ขันธ์ 5 อายตนะ 6
ไตรลักษณ์ 3 อริยสัจ 4 ขันธ์ 5 อายตนะ 6 มีความสัมพันธ์กันดังนี้
อริยสัจ 4 ประกอบด้วยขั้นตอนการฝึกจิต และเป็นความจริง 4 ประการ คือ
ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ดำรงอยู่ได้ยาก เป็นความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ การจะฝึกจิต ให้พัฒนาขึ้นมานั้น ผู้ฝึกควรมีแรงผลักดันจากการเห็นความทุกข์ที่แอบแฝงในชีวิตตนเอง ยิ่งสามารถตระหนักเห็นทุกข์ได้มากเท่าไร ก็จะส่งผลให้การฝึกจิตพัฒนาขึ้นเท่านั้น
สมุทัย คือ สาเหตุของทุกข์ อันเกิดจาก จิตไม่รู้เท่าทันการเกิดขึ้นของจิต เมื่อเกิดการกระทบ ผัสสะ ขึ้นที่อายตนะทั้ง 6 คือ ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เกิดการปรุงแต่งเป็นขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วจิตก็มายึดเกาะขันธ์ 5 เกิดอุปาทานว่าขันธ์ 5 เป็นของจริง นิ่ง และเที่ยง และในขณะเดียวกัน ขันธ์ที่เกิดมาก่อนหน้าก็มีแรงดึงคอยรัดจิตไว้ให้มายึดเกาะขันธ์เช่นกัน การจะฝึกจิตให้พัฒนาขึ้นมานั้น ผู้ฝึกควรมีแรงผลักดันจากการเห็นสาเหตุของความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตของตนเอง ยิ่งสามารถเห็นและเข้าใจสาเหตุทุกข์ได้มากเท่าไร ก็จะส่งผลให้การฝึกจิตพัฒนาขึ้นเท่านั้น
นิโรธ คือ ความดับทุกข์ โดยการเจริญสติ ฝึกจิตให้มีสติรู้เท่าทันการกระทบผัสสะที่เกิดขึ้นตามอายตนะ เพื่อให้เห็นภาวะของขันธ์ที่เกิดขึ้นตามอายตนะเป็น ไตรลักษณ์ 3 ประการ ได้แก่ อนิจจัง คือ ไม่เที่ยง ทุกขัง คือ เป็นทุกข์ ดำรงอยู่ไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ยึดถือเอาไม่ได้ อนัตตา ไม่มีตัวตนถาวร เมื่อเห็นเช่นนี้แล้วจิตก็จะไม่หลงเข้าไปยึดเกาะขันธ์ที่เกิดขึ้น ทุกข์ก็จะดับไปตามสติที่เรารู้เท่าทัน เป็นปัจจุบันขณะไปเรื่อยๆ
ผลจากการฝึกสติเช่นนี้ จิตเราจะเกิดปัญญารู้เท่าทันการกระทบผัสสะ และรู้เท่าทันขันธ์ 5 สามารถดับทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ เกิดผัสสะขึ้นมาเมื่อไร สติก็ดับเหตุที่กระทบนั้น ผลที่มันจะเกิดเป็นความทุกข์ก็ถูกดับไปได้เรื่อยๆ เมื่อฝึกฝนมากขึ้นกำลังสติก็เพิ่มขึ้น จนมีรอบของความถี่และความเร็วของสติ มากกว่า รอบของความถี่และความเร็วของผัสสะ จิตเราจะเกิดปัญญาอยู่เหนือ ผัสสะ และขันธ์ 5 และจะมีปัญญาอยู่เหนือทุกข์ เป็นภาวะที่จิตกับขันธ์แยกตัวออกจากกัน เมื่อฝึกมากขึ้นอีกกำลังสติก็จะเพิ่มขึ้นอีก จนกำลังสติที่เกิดขึ้นจะมากกว่าแรงดึงจากขันธ์ที่จะคอยมาดึงจิตให้ไปรวมกับขันธ์ จิตเราจะมีปัญญาปล่อยวางขันธ์ 5 ได้ และจะมีปัญญาปล่อยวางทุกข์ได้ เมื่อจิตปล่อยวางขันธ์ 5 ได้ ก็จะหลุดพ้นจากขันธ์ 5 เราก็จะได้เห็น มรรค
มรรค คือ ความพ้นทุกข์ หรือ ทางพ้นทุกข์ อันเป็นผลจากการที่เราปล่อยวางขันธ์ 5 ได้ เมื่อเราปล่อยวางจากขันธ์ 5 ได้ จิตเราก็จะหลุดพ้นจากขันธ์ 5 เราจะได้เห็น ทาง หรือ มรรค มรรคก็คือสภาวะของจิตเดิมที่เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติเดิมที่ยังไม่ถูกขันธ์ 5
ครอบงำ การที่จิตหลุดออกมาจากขันธ์นี้ เรียกว่า วิมุตติ จิตหลุดพ้นมีดวงตาเห็นธรรม
วิปัสสนากรรมฐาน จึงเป็นการฝึกเจริญสติปัฏฐาน เป็นการฝึกสติโดยใช้อายตนะเป็นฐานที่ใช้ฝึกเพื่อให้รู้เท่าทันการกระทบผัสสะ เพื่อดับทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นปัจจุบันขณะ เป็นการดับทุกข์ หรือ นิโรธ ในความหมายของการดับทุกข์อริยสัจ 4 เพื่อให้จิตได้พบกับ มรรค พ้นทุกข์จากขันธ์ 5
ระดับพลังของจิตที่เหมาะสมในการฝึกสติ
ในการที่จะฝึกสติ ที่จะเป็นสติปัฏฐานจนสามารถดับทุกข์ได้นั้น องค์ประกอบที่ทำให้เกิดสติปัฏฐาน ก็คือ ระดับพลังของจิตที่เหมาะสม และกระบวนการที่ใช้ฝึกที่ถูกต้อง ระดับของพลังจิตนั้น มีทั้ง ระดับจิตที่เป็นภาวะปกติไม่ถึงฌาน กับระดับจิตที่ถึงฌาน อันเกิดขึ้นจากการฝึกจิตให้สงบด้วยวิธีสมถกรรมฐาน ระดับจิตที่เกิดขึ้น ก็มีอยู่ สี่ระดับใหญ่ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
เมื่อพิจารณาระดับจิต ระดับต่างๆ เราจะเห็นว่าระดับจิตที่อยู่กับขันธ์ 5 คือ ความนึกคิด ความรู้สึก อารมณ์ จิตก็จะหยาบเกินไปไม่สงบ มีสิ่งขัดขวางกั้นบังจิต จิตไม่มีกำลังพอที่จะเท่าทันผัสสะได้
  • หากจิตอยู่ในจตุตถฌาน อยู่กับความว่าง ก็พิจารณาอะไรไม่ได้ อยู่ข้างในเกินไปไม่รับรู้สภาพภายนอก
  • หากจิตอยู่ในตติยฌาน อยู่กับสุข ก็พิจารณาอะไรไม่ได้อีก ยังอยู่ข้างในเกินไปไม่รับรู้สภาพภายนอก
  • หากจิตอยู่ในทุติยฌาน อยู่กับปีติ ก็พิจารณาอะไรไม่ได้อีก แม้จะอยู่ใกล้สภาพภายนอกก็ตาม เพราะสภาพรู้ถูกบิดเบือนด้วยคลื่นแรงโน้มถ่วง จากจุดศูนย์กลางใจ
  • หากจิตอยู่ที่ปฐมฌาน อยู่กับวิตก วิจารณ์ หรือ ความนึกคิดที่เบาบาง จนถึงขั้นวิตกวิจารณ์ดับไป ก็จะเป็นภาวะจิตที่เรายังสามารถพิจารณาสิ่งต่างๆ ได้ เพราะไม่อยู่ข้างในใจเกินไป จนจิตละเอียด ไม่รับรู้สภาพภายนอก และไม่อยู่ข้างนอกเกินไปจนจิตหยาบ ถูกขันธ์ 5 บังไปหมด
ปฐมฌานจึงเป็นระดับจิตที่เหมาะแก่การฝึกเจริญสติ เพราะเป็นระดับจิตที่สมดุลย์ ระหว่างความไม่สงบ กับความสงบ เป็นภาวะจิตที่เราสามารถรู้เท่าทันสภาพความเป็นจริงของการกระทบผัสสะ และของขันธ์ ที่เคยเห็นเป็นภาวะที่นิ่ง จะสามารถเห็นเป็นความเคลื่อนไหวเกิด ดับ ที่เกิด ดับ ต่อเนื่องได้ นอกจากภาวะของปฐมฌานที่สามารถจะเห็นการเกิดดับของผัสสะได้แล้ว ภาวะของฌานที่เกิดขึ้นยังไปทำให้กระบวนการของการเกิดดับของผัสสะช้าลง ทำให้เห็นการเกิดดับได้ง่ายขึ้น เมื่อจิตอยู่ในระดับจิตปฐมฌานนี้ หากเราเลื่อนความรู้สึกไปตั้งไว้ที่ฐานไหนในอายตนะทั้ง 6 ก็จะสามารถเห็นการเกิดดับและรู้เท่าทันผัสสะที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ปฐมฌาน จึงเป็นระดับจิตที่เหมาะสมที่เราจะนำไปใช้ฝึกจิตในขั้นวิปัสสนากรรมฐาน